หน้าแรก  »  ยาสมุนไพรจีน

ข้อมูลยาจีน สมุนไพรจีน

รวมข้อมูลยาจีน สมุนไพรจีน
มรดกองค์ความรู้อันล้ำค่าจากการแพทย์จีน

ข้อมูลยาสมุนไพรจีน
ตามสรรพคุณ

ไอคอนยาสมุนไพรจีนสีเขียว

ถาม-ตอบ
เรื่องยาสมุนไพรจีน

ด้วยองค์ความรู้ที่สั่งสมต่อเนื่องมายาวนานถึง 3,000 ปี ประกอบกับความเป็นเอกลักษณ์ของแนวคิดปรัชญาที่อิงกับกฎธรรมชาติ ยาสมุนไพรในทางการแพทย์จีนจึงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็จะมีจุดเด่นที่สำคัญหลายประการดังนี้

  • รักษาแบบองค์รวม ด้วยมุมมองที่เน้นรักษาความผิดปกติที่ต้นเหตุ ผ่านการดูแลทุกระบบที่เกี่ยวข้องแบบบูรณาการ ไม่ใช่แค่เพียงระงับอาการซึ่งเป็นปลายเหตุไว้เท่านั้น การใช้ยาสมุนไพรในทางการแพทย์จีนจึงนับว่าเป็นแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
  • สืบสานต่อเนื่องยาวนาน การแพทย์จีนเป็นหนึ่งในศาสตร์การแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุด มีประวัติการสืบสานพัฒนาต่อเนื่องที่ยาวนานถึง 3,000 ปี
  • สมุนไพรหลากชนิด การแพทย์จีนเป็นหนึ่งในศาสตร์การแพทย์ที่มีจำนวนชนิดพันธุ์สมุนไพรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งก็เป็นผลมาจากพื้นที่ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพอากาศสูง
  • เน้นการป้องกัน นอกจากการรักษาแล้ว การแพทย์จีนยังให้ความสำคัญกับการป้องกัน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการดูแลปรับสมดุลร่างกายแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ตอนที่ยังมีสัญญาณความผิดปกติแค่เพียงเล็กน้อย
  • อิงธรรมชาติ การแพทย์จีนจะใช้ตำรับยาสมุนไพรจีนที่มาจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีสังเคราะห์
  • ปลอดภัยสูง ด้วยที่มาจากธรรมชาติ ทั้งยังมีประวัติการใช้มานานนับพันปี ยาสมุนไพรจีนจึงนับว่ามีความปลอดภัยสูง

ในทางปฏิบัตินั้น แทนที่จะใช้สมุนไพรเดี่ยวๆ การแพทย์จีนจะเน้นใช้สมุนไพรจีนในรูปแบบตำรับยา ซึ่งก็คือการรวมเอาสมุนไพรจีนหลายชนิดมาไว้รวมกัน โดยอิงตามหลักทฤษฎีจุน-เฉิน-จั่ว-ชิ หรือทฤษฎีอื่นๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดีในการรักษา (ช่วยส่งเสริมกันและกัน) และไม่ให้เกิดผลเสียแก่ร่างกาย (ช่วยแก้พิษและปรับสมดุลกันและกัน)

ยาสมุนไพรจีนหากเลือกใช้ตำรับที่มีสรรพคุณตรงกับโรคและอาการผิดปกติก็จะสามารถช่วยบำบัดรักษาได้ แต่ก็ควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยแพทย์แผนจีน เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ตัวอย่างสมุนไพรจีนที่ได้รับความนิยมสูง เป็นที่รู้จักในวงกว้างในไทยก็อย่างเช่น โสม อือเจียว เห็ดหลินจือ ถั่งเช่า เมล็ดบัว พุทราจีน เก๋ากี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ การเลือกใช้สมุนไพรจีนที่เหมาะสมนั้น ก็ไม่ควรอิงตามความนิยมหรือถ้อยคำชวนเชื่อจากโฆษณา แต่ควรอิงตามความเหมาะสมต่อสุขภาพของตนเป็นหลัก ซึ่งก็ควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยแพทย์แผนจีน เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

นับจากอดีต บรรพบุรุษมนุษย์อาศัยอยู่ในแผ่นดินประเทศจีนมานานกว่า 1 ล้านปี ในประวัติศาสตร์ที่ยาวนานนี้ ก็ได้มีการค้นพบว่าอาหารบางชนิดมีสรรพคุณทางยา สามารถใช้รักษาอาการเจ็บป่วยได้ ทั้งยังค้นพบการเผาสมุนไพรรมตามผิวหนัง รวมถึงการใช้เข็มเจาะหรือฝังเพื่อป้องกันและรักษาโรค สิ่งเหล่านี้ก็คือการแพทย์แผนจีนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเจริญทางอารยธรรมจีนที่เฟื่องฟูมากว่า 3,000 ปี

ศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสต์ศักราชในสมัยราชวงศ์โจว ได้มีการค้นพบบันทึกที่บ่งชี้ถึงระบบบริการทางการแพทย์ ประกอบไปด้วยแพทย์โภชนบำบัด แพทย์รักษาโรค แพทย์รักษาแผล และสัตวแพทย์

ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราชเรื่อยมาจนถึงสมัยราชวงศ์ฉิน (221-206 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ. 220) สังคมประเทศจีนได้เปลี่ยนจากระบบทาสเป็นระบบศักดินา เกิดการขยายตัวของชนชั้นนักคิดนักศึกษา เกิดลัทธิความเชื่อต่างๆ อาทิ ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื๊อ ลัทธิวัตถุนิยมสมัยโบราณ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของบรรดาแนวคิดทางปรัชญาในการแพทย์แผนจีน อย่างเช่น ทฤษฎีหยินหยาง และทฤษฎีปัญจธาตุ

หนึ่งในตำราทางการแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบันก็คือ “หวงตี้เน่ยจิง” ถูกแต่งขึ้นในช่วง 300-500 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยไม่ทราบนามผู้แต่ง เป็นการรวบรวมความรู้ในด้านกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิวิทยา การวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาโรค ที่มีมาก่อนสมัยราชวงศ์ฮั่น ผสมผสานกับศาสตร์แขนงอื่น เช่น ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เกษตรศาสตร์ คณิตศาสตร์ ปรัชญา โดยอาศัยแนวความคิดวัตถุนิยมสมัยโบราณ ทฤษฎีหยินหยาง และทฤษฎีปัญจธาตุ ตำราจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ซูเวิ่น และ หลิงซู ซึ่งตำรานี้ก็นับเป็นรากฐานสำคัญของการแพทย์แผนจีนในเวลาต่อมา

“น่านจิง” เป็นตำราที่แต่งขึ้นก่อนสมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสต์กาล – ค.ศ. 220) มีรายละเอียดเกี่ยวกับการแพทย์แผนจีนหลายๆ ด้าน เพิ่มเติมความสมบูรณ์ของตำราหวงตี้เน่ยจิง

“เสินหนงเป็นเฉ่าจิง” เป็นตำราที่แต่งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 1 สมัยราชวงศ์ฮั่น ซึ่งได้รวบรวมความรู้ทางเภสัชกรรม คือ สมุนไพร 365 ชนิด และทฤษฎีเภสัชวิทยาทางด้านคุณลักษณะ รสชาติ และฤทธิ์ของสมุนไพร

ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25-220) จางจงจิ่งใช้ความรู้การแพทย์แผนจีนโบราณร่วมกับประสบการณ์ส่วนตัวทางการแพทย์แต่งตำรา “ซางหันจำปิ้งลุ่น” ซึ่งต่อมาภายหลังได้แบ่งออกเป็น 2 เล่ม คือ ซางหันลุ่น และจินคุยเย่าลู่ โดยรายละเอียดจะกล่าวถึงการวินิจฉัยและรักษาโรคที่มีสาเหตุจากภายนอกและโรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย และจะวิเคราะห์แยกกลุ่มอาการตามเส้นลมปราณและความผิดปกติของอวัยวะภายใน

หวงฝู่มี (ค.ศ. 215-282) แต่งตำรา “เจินจิ่วเจี๋ยอี่จิง” เป็นตำราเล่มแรกที่กล่าวถึงทฤษฎีระบบเส้นลมปราณ และการวินิจฉัยและรักษาด้วยการฝังเข็ม จึงมีอิทธิพลต่อศาสตร์การฝังเข็มในยุคต่อมา ความรู้ทางการแพทย์แผนจีนได้เจริญพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้รับความนิยมแพร่ไปในคาบสมุทรเกาหลีและญี่ปุ่นในคริสต์ศตวรรษที่ 6

แพทย์แผนจีนสมัยต่อมาอาศัยพื้นฐานความรู้จากหวงตี้เน่ยจิงและซางหันจำปิ้งลุ่น แต่ด้วยมุมมองที่ต่างกันทำให้ความรู้กว้างขวางขึ้น ในสมัยราชวงศ์จิน (ค.ศ. 1115-1234) และราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1206-1368) มีแพทย์ก่อตั้งสำนักแพทย์จีน 4 แห่ง โดยแต่ละแห่งก็จะมีลักษณะพิเศษของทฤษฎีแพทย์แผนจีนแตกต่างกันคือ

  • หลิวหวันซู่ เชื่อว่าสาเหตุของโรคจากภายนอกที่มากระทบร่างกาย มักเกี่ยวข้องมีกำเนิดจากไฟ การรักษาจึงมักใช้ยาที่มีคุณลักษณะเย็น
  • จางฉ่งเจิ้ง เชื่อว่าโรคเกิดจากร่างกายถูกรุกรานจากสาเหตุภายนอก การรักษาจึงต้องขับสาเหตุโรคออกจากร่างกาย โดยมี 3 วิธี คือ ขับทางเหงื่อ ขับทางอาเจียน และขับระบายทางอุจจาระ
  • หลี่ตงหยวน เชื่อว่าโรคส่วนมากมีสาเหตุจากม้ามและกระเพาะอาหารถูกกระทบภายใน การรักษาจึงเน้นการบำรุงหยางม้าม
  • จูตานซี เชื่อว่าหยางของร่างกายมักเพิ่มสูงเกินไป หยินมักลดต่ำ การรักษาจึงยึดหลักเสริมหยินและระบายหยาง

สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) จ้าวเชี่ยนเข่อและจางจิ่งเยี่ย กล่าวถึงทฤษฎีมิ่งเหมิน เป็นการเพิ่มเติมความรู้ใหม่ในทฤษฎีอวัยวะภายใน

คริสต์ศตวรรษที่ 16 มีบันทึกเกี่ยวกับการปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษในประเทศจีน โดยวิธีใส่หนองหรือสะเก็ดจากแผลเข้าไปในรูจมูกของเด็ก นับเป็นก้าวแรกของวิชาวิทยาภูมิคุ้มกันก่อนที่จะมีการค้นพบวิธีปลูกฝีป้องกันโรคของทางตะวันตก

หลี่สือเจิน (ค.ศ. 1518-1593) เดินทางท่องเที่ยวเพื่อเก็บสมุนไพรจากสถานที่ต่างๆ มาศึกษาวิจัยอย่างละเอียด เขาได้แต่งตำรา “เป็นเฉ่ากังมู่” ซึ่งกล่าวถึงยา 1,892 ชนิด ตำรับยามากกว่า 10,000 ตำรับ เป็นคุณประโยชน์ใหญ่หลวงต่อการพัฒนาทางเภสัชวิทยาในภายหลัง

ปลายสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1582-1652) อู้โย่วเข่อตั้งสมมุติฐานในตำราเวินอี้ลุ่นเกี่ยวกับสาเหตุของโรคไข้ระบาดว่าน่าจะเกิดจากการหายใจเอาอากาศสกปรกมีพิษเข้าไปทางจมูกและปาก ขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิมว่าสาเหตุของโรคจากภายนอกผ่านเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1616-1911) จากประสบการณ์ในการรักษาโรคไข้ระบาด ได้มีการรวบรวมขึ้นเป็นทฤษฎีของการรักษาโรคไข้ระบาด คือการรักษาโรคไข้ระบาดจำเป็นต้องวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการก่อนว่ามีอาการอยู่ในระดับไหน เช่น การแยกตามระบบเว่ยชื่อิ๋งเลือด หรือการแยกตามตำแหน่งของโรคในซานเจียว (ซ่างเจียว จงเจียวซย่าเจียว) ตำราทฤษฎีโรคไข้ระบาดเหล่านี้ได้แก่ เวินเร่อปิ้งเพียนของเย่เทียนซื่อ เวินปิ้งเถียวเปี้ยนของอู๋จูทง ซือเร่อปิ้งเพียนของเซวียเชิงไป เวินเร่อจิงเหว่ยของหวางเมิ่งอิง

หวางชิงเริ่น (ค.ศ.1768-1831) แต่งตำรา “อิหลินก่ายชั่ว” ซึ่งได้แก้ไขข้อผิดพลาดของความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์ในตำรารุ่นก่อนๆ และแสดงพยาธิสภาพของอาการเลือดคั่ง ช่วยให้ทฤษฎีพื้นฐานการแพทย์แผนจีนพัฒนาไปอีกขั้น

แม้ตอนนี้ การแพทย์แผนปัจจุบันจะมีความเจริญรุดหน้าเป็นอย่างมาก แต่การแพทย์แผนจีนก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อย เพราะได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่ามีประสิทธิภาพดีและปลอดภัย การแพทย์ทั้ง 2 แบบต่างก็มีจุดเด่นจุดด้อย จึงมีการนำมาผสมผสานรวมกันในการวินิจฉัยและรักษาโรค ซึ่งก็เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ที่เจ็บป่วย

ปรึกษาแพทย์จีนเอินเวย์

เริ่มต้นดูแลสุขภาพด้วยยาสมุนไพรจีนเอินเวย์
รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญฟรี

ปรึกษาแพทย์จีน
ปรึกษาแพทย์จีน
Scroll to Top