หน้าแรก  »  บทความสุขภาพ  »  ไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไร รักษาหายไหม แล้วมีอาการแสดงอะไรบ้าง

ไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไร รักษาหายไหม แล้วมีอาการแสดงอะไรบ้าง

ไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไร รักษาหายไหม แล้วมีอาการแสดงอะไรบ้าง

ภาวะไขมันในเลือดสูง ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะหลอดเลือดหากตีบตันแล้ว ก็จะนำมาซึ่งความสูญเสียใหญ่หลวง โดยทางเอินเวย์ ในฐานะของผู้นำด้านนวัตกรรมสมุนไพรจีนสร้างเสริมสุขภาพ ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนัก และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภาวะไขมันในเลือดสูงให้แก่ทุกท่านเองค่ะ

YouTube player

ไขมันในเลือดสูงคืออะไร อันตรายไหม

ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) คือภาวะที่กระแสเลือดของเรามีไขมันสูงกว่าปกติ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะจะเอื้อให้เกิดการสะสมของไขมันบริเวณผนังหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น โดยในระยะยาวก็จะทำให้หลอดเลือดอุดตัน และเกิดเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ฯลฯ

ไขมันในเลือดมีกี่ชนิด

ไขมันในเลือดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะไขมันในเลือดสูงจะมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่

  • คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) คือคอเลสเตอรอลชนิดหลักในร่างกาย ซึ่งจะถูกใช้ในการสร้างเซลล์และฮอร์โมนบางชนิด แต่ถ้ามีอยู่ในกระแสเลือดมากเกินไป ก็จะทำให้เสี่ยงเกิดหลอดเลือดอุดตันในระยะยาว
  • คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) คือคอเลสเตอรอลที่ถูกลำเลียงกลับไปทำลายที่ตับ ถ้ามีอยู่ในกระแสเลือดน้อยเกินไป ก็จะแปลว่าร่างกายกำจัดคอเลสเตอรอลได้ไม่ดี ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น
  • ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) คือไขมันที่ร่างกายใช้เป็นพลังงาน หรือกักเก็บไว้เมื่อได้รับพลังงานเกิน ถ้ามีอยู่ในกระแสเลือดมากเกินไป ก็จะทำให้เสี่ยงเกิดหลอดเลือดอุดตันในระยะยาว เช่นเดียวกับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี

การตรวจไขมันในเลือด

การตรวจไขมันในเลือด จะทำด้วยการเจาะเก็บเลือดจากร่างกายเพื่อนำไปตรวจในแล็บ โดยผู้เข้ารับการตรวจจะต้องงดเครื่องดื่มและอาหาร 8-12 ชั่วโมงก่อนตรวจ ยกเว้นน้ำเปล่า ซึ่งผลตรวจก็จะประกอบไปด้วย 4 ค่า ดังนี้

  1. คอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol)
  2. คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL)
  3. คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL)
  4. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)

(การตรวจไขมันในเลือดมักจะตรวจจริงแค่ 3 ค่า คือ คอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ และ HDL ส่วน LDL นั้นจะได้มาจากการคำนวณด้วยสูตร LDL = Total Cholesterol – HDL – (0.2 x Triglyceride))

เกณฑ์ไขมันในเลือดปกติ

สำหรับเกณฑ์วินิจฉัยค่าไขมันในเลือดสูงก็จะมีรายละเอียดตามตารางดังต่อไปนี้

ตารางแสดงเกณฑ์คอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol)

เกณฑ์ค่าคอเลสเตอรอลรวม (มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
ปกติ< 200
เริ่มสูง200-239
สูง≥ 240

ตารางแสดงเกณฑ์คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL)

เกณฑ์ค่า LDL (มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
ปกติ< 100
ใกล้เคียงปกติ100-129
เริ่มสูง130-159
สูง160-189
สูงมาก≥ 190

ตารางแสดงเกณฑ์คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL)

เกณฑ์ค่า HDL ในผู้ชาย (มิลลิกรัม/เดซิลิตร)ค่า HDL ในผู้หญิง (มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
ปกติ≥ 60≥ 60
เริ่มต่ำ40-5950-59
ต่ำ< 40< 50

ตารางแสดงเกณฑ์ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)

เกณฑ์ค่าไตรกลีเซอไรด์ (มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
ปกติ< 150
เริ่มสูง150-199
สูง200-499
สูงมาก≥ 500
YouTube player

สถานการณ์ภาวะไขมันในเลือดสูงในปัจจุบัน

ข้อมูลสถิติล่าสุดของสถานการณ์ภาวะไขมันในเลือดสูงก็จะมีรายละเอียดดังนี้

  • ภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่หลายคนคิด โดย 1 ใน 2 และ 1 ใน 3 ของคนไทยจะมีคอเลสเตอรอลรวมและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเกินเกณฑ์ ตามลำดับ อ้างอิงจากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 6 เมื่อปี 2019-2020 (เกณฑ์คอเลสเตอรอลรวมปกติที่ใช้คือ < 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่วนของไตรกลีเซอไรด์คือ < 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
  • จากข้อมูลเดียวกันนี้ เมื่อเทียบกันแล้ว ค่าคอเลสเตอรอลรวมเฉลี่ยในผู้หญิงจะสูงกว่าผู้ชายเล็กน้อย (213 และ 207 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ตามลำดับ) และในทางกลับกัน ค่าไตรกลีเซอไรด์เฉลี่ยในผู้ชายจะสูงกว่าผู้หญิง (169 และ 134 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ตามลำดับ)
  • ภาวะไขมันในเลือดสูงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่ง 2 โรคนี้จะเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 1 และ 2 ของโลก ตามลำดับ อ้างอิงจากข้อมูลเมื่อปี 2019 โดยองค์การอนามัยโลก

ไขมันในเลือดสูงมีสาเหตุเกิดจากอะไร

ภาวะไขมันในเลือดสูงสำหรับบางคนจะเกิดจากพันธุกรรม (คนกลุ่มนี้จะมีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงตั้งแต่อายุยังน้อย) แต่ในคนส่วนใหญ่นั้น ก็จะเกิดจากปัจจัยอื่น หลายๆ ปัจจัยร่วมกัน ตัวอย่างเช่น

ปัจจัยในด้านการใช้ชีวิต

  • อาหารการกินไม่เหมาะสม
  • น้ำหนักตัวเกิน
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • แอลกอฮอล์เกิน
  • การสูบบุหรี่
  • ความเครียด

สภาวะสุขภาพและโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง

  • การตั้งครรภ์
  • ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์
  • ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
  • โรคไต
  • โรคตับ
  • โรคของตับอ่อน
  • โรคเบาหวาน

ยาที่เป็นปัจจัยเสี่ยง

  • ยาคุมกำเนิด
  • ยาขับปัสสาวะ
  • ยาต้านไวรัส HIV
  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์

ไขมันในเลือดสูงมีอาการแสดงอะไรบ้าง

ภาวะไขมันในเลือดสูงในคนส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แสดงออกมา จนกระทั่งไขมันได้ก่อตัวบนผนังหลอดเลือดจนถึงระดับที่ทำให้ตีบตัน และเกิดเป็นอาการรุนแรงต่างๆ อย่างเช่น หัวใจวายหรือเส้นเลือดในสมองแตก

แต่สำหรับบางคนที่มีคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมาก ก็อาจมีตุ่มไขมันเกิดขึ้นบนผิวหนังได้ ซึ่งการรักษานั้นก็มักจะเน้นแก้ที่ต้นเหตุ ด้วยการควบคุมไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

วิธีป้องกันไขมันในเลือดสูง

ในคนส่วนใหญ่ การป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูงจะทำได้ด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะปัจจัยในด้านการใช้ชีวิต ซึ่งก็ได้แก่

  • จำกัดไขมันอิ่มตัว ซึ่งพบได้มากในไขมันจากสัตว์และน้ำมันจากพืชเขตร้อน เนื่องจากการได้รับไขมันอิ่มตัวมากเกินไปจะมีผลทำให้คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) ในเลือดสูงขึ้น ตัวอย่างอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงก็อย่างเช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ไส้กรอก เบคอน เนย น้ำมันปาล์ม กะทิ เบเกอรี่และไอศครีมบางชนิด ฯลฯ
  • จำกัดไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นไขมันพืชที่ถูกปรับเปลี่ยนโมเลกุลด้วยการเติมไฮโดรเจน เพื่อให้มีลักษณะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้อง อย่างเช่น เนยเทียมและเนยขาวบางสูตร เนื่องจากการได้รับไขมันทรานส์จะมีผลทำให้คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีสูงขึ้น และมีผลทำให้คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดลง (ประเทศไทยได้ออกกฎหมายห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายไขมันทรานส์ตั้งแต่ปี 2019)
  • จำกัดน้ำตาล เนื่องจากการได้รับน้ำตาลมากเกินไป จะมีผลทำให้คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีในเลือดสูงขึ้น ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้น และยังมีผลทำให้คอเลสเตอรอลชนิดดีลดลงอีกด้วย ซึ่งตัวอย่างอาหารที่มีน้ำตาลสูงนั้นก็อย่างเช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ของหวาน ไอศครีม ขนมและเบเกอรี่บางชนิด ฯลฯ
  • เน้นกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพหลอดเลือดมากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืช เนื้อไก่ ปลา น้ำมันพืชที่ไม่ได้มาจากพืชเขตร้อน ฯลฯ เพื่อเป็นการทดแทนอาหารกลุ่มที่มีไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลสูง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะมีผลดีทั้งในด้านการลดคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี ลดไตรกลีเซอไรด์ และช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี ซึ่งก็จะแนะนำให้ออกกำลังกายประเภทแอโรบิคอย่างน้อยที่ระดับความหนักปานกลางสัปดาห์ละ 150 นาที อย่างเช่น เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ กระโดดเชือก ฯลฯ
  • ลดน้ำหนัก เนื่องจากการมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ (ดูได้คร่าวๆ จากค่า BMI) จะมีผลทำให้คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีสูงขึ้น และมีผลทำให้คอเลสเตอรอลชนิดดีลดลง โดยการลดน้ำหนักอย่างน้อย 5-10% ก็จะมีผลช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดดีขึ้นได้
  • เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่ ทั้งการสูบเองและการได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น จะมีผลทำให้คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีสูงขึ้น ทำให้คอเลสเตอรอลชนิดดีลดลง อีกทั้งยังมีผลทำร้ายหลอดเลือดโดยตรงอีกด้วย
  • จำกัดแอลกอฮอล์ เนื่องจากการได้รับแอลกอฮอล์มากเกินไป ไม่ว่าจะมาจากเหล้า เบียร์ ไวน์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ก็จะมีผลทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้น
  • จัดการความเครียด เนื่องจากภาวะเครียดเรื้อรังก็อาจมีผลทำให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีสูงขึ้น และมีผลทำให้คอเลสเตอรอลชนิดดีลดลงได้เช่นกัน

ไขมันในเลือดสูงรักษาหายไหม มีวิธีรักษาอย่างไร

ภาวะไขมันในเลือดสูงหากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ก็จะสามารถควบคุมให้กลับมาอยู่ในระดับที่ปกติได้ แต่ถึงแม้จะลดได้แล้ว ก็ยังจำเป็นต้องดูแลควบคุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ค่าไขมันกลับไปสูงดังเดิม

สำหรับการรักษานั้น แพทย์ก็มักจะใช้วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นหลัก อย่างเช่น ปรับอาหารการกิน ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก เลิกบุหรี่ จำกัดแอลกอฮอล์ จัดการความเครียด เป็นต้น

แต่สำหรับบางคนที่มีระดับไขมันในเลือดสูงมาก มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง หรือมีสาเหตุที่มาจากพันธุกรรม โรคอื่นๆ หรือการใช้ยา แพทย์ก็อาจใช้ยาลดไขมัน และทำการปรับหรือรักษาที่สาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

การดูแลสุขภาพหลอดเลือดตามทัศนะการแพทย์จีน

การแพทย์จีนนิยมใช้วิธีบำบัดแบบองค์รวมและปรับสมดุลร่างกาย ผ่านตำรับยาที่สกัดจากพืชสมุนไพรธรรมชาติหลายชนิด เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งก็จะมีหลักการทำงานดังนี้

  • ปรับสมดุลตับ เพื่อให้ตับผลิตไขมันในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ผลิตไขมันมากหรือเร็วเกินไป
  • ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ เพิ่ม HDL เพื่อส่งเสริมการนำ LDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีไปทำลายที่ตับ
  • สลายภาวะเลือดคั่ง ลดความข้นหนืดของเซลล์เม็ดเลือด
  • ยับยั้งการก่อตัวของลิ่มเลือด
  • ผลักดันการไหลเวียนของเลือด เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดฝอย
  • ลดการแข็งตัวและเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือด

ท่านที่สนใจดูแลไขมันในเลือดและสุขภาพหลอดเลือดตามทัศนะการแพทย์จีน ก็สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์แผนจีนและผู้เชี่ยวชาญได้ที่ไอดีไลน์ @enwei

จบแล้วกับประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะไขมันในเลือดสูง ทั้งนิยาม สาเหตุ อาการแสดง การตรวจ เกณฑ์ค่าปกติ ปัจจัยเสี่ยง วิธีป้องกัน และวิธีรักษา ทางเอินเวย์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ

เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์จีน เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดี

YouTube player
YouTube player
YouTube player
ปรึกษาแพทย์จีน
ปรึกษาแพทย์จีน
Scroll to Top