หน้าแรก  »  บทความสุขภาพ  »  ไขมันในเลือดสูง ห้ามกินผลไม้อะไรบ้าง

ไขมันในเลือดสูง ห้ามกินผลไม้อะไรบ้าง

ไขมันในเลือดสูง ห้ามกินผลไม้อะไรบ้าง

แม้ผลไม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารสุขภาพ แต่ถ้ากินไม่เหมาะสม ก็อาจส่งผลเสียต่อไขมันในเลือดได้

สำหรับรายละเอียดที่ว่าผลไม้นั้นส่งผลเสียต่อไขมันในเลือดได้อย่างไร แล้วผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงห้ามกินผลไม้อะไรบ้าง เอินเวย์ ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์สมุนไพรจีนสมัยใหม่ ก็ได้นำข้อมูลมาให้ชมในบทความนี้แล้วค่ะ

ข้อแนะนำทั่วไปสำหรับการกินผลไม้

ผลไม้ถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพ เพราะเป็นแหล่งของสารสำคัญต่างๆ เช่น วิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร สารพฤกษเคมี ฯลฯ

งานวิจัยปัจจุบันก็ได้พบคุณประโยชน์มากมายของการกินผลไม้เป็นประจำ อย่างเช่น ช่วยต้านมะเร็งบางชนิด ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือแม้กระทั่งอาจช่วยลดโอกาสเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง

ด้วยเหตุผลเหล่านี้นี่เอง บรรดาองค์กรในด้านสุขภาพจึงต่างก็ให้ความสำคัญกับการกินผลไม้อย่างเพียงพอ ยกตัวอย่างเช่น

  • องค์การอนามัยโลกได้แนะนำว่า ผู้ใหญ่ทั่วไปควรได้รับผักและผลไม้รวมกันอย่างน้อยวันละ 400 กรัม (ไม่นับรวมพืชจำพวกแป้ง อย่างเช่น มันฝรั่ง มันสำปะหลัง ฯลฯ)
  • ธงโภชนาการ ซึ่งเป็นภาพจำลองข้อแนะนำการกินเพื่อสุขภาพของไทย ที่เผยแพร่โดยกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้แนะนำว่าผู้ใหญ่ทั่วไปควรได้รับผลไม้วันละ 3-5 ส่วน ขึ้นอยู่กับความต้องการพลังงานของแต่ละคน

ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงอาจต้องระวังผลไม้

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ผลไม้ที่กินก็อาจกลายเป็นตัวปัญหาได้ เนื่องจากคนกลุ่มนี้หากได้รับน้ำตาลและพลังงานเกิน ก็จะทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดยิ่งสูงขึ้น

(ไขมันในเลือดที่ตรวจกันโดยทั่วไปจะมีอยู่ 4 ค่า ได้แก่ คอเลสเตอรอลรวม คอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งในบรรดา 4 ค่านี้ ไตรกลีเซอไรด์จะได้รับผลกระทบจากน้ำตาลและพลังงานส่วนเกินชัดเจนที่สุด เพราะร่างกายจะเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ให้เป็นไตรกลีเซอไรด์โดยตรง เพื่อเก็บสะสมไว้)

ไตรกลีเซอไรด์สูง ห้ามกินผลไม้อะไร

จากที่กล่าวมา ผู้ที่มีไตรกลีเซอไรด์สูงจึงควรระมัดระวังผลไม้น้ำตาลสูงเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น

  1. ทุเรียน ปริมาณ 1 เม็ดขนาดกลาง (80 กรัม) มีน้ำตาล 17 กรัม
  2. ลำไย ปริมาณ 10 ลูก (75 กรัม) มีน้ำตาล 18 กรัม
  3. ขนุน ปริมาณ 2 ยวง (60 กรัม) มีน้ำตาล 17 กรัม
  4. กล้วยหอม ปริมาณ 1 ผล (108 กรัม) มีน้ำตาล 22 กรัม
  5. มะม่วงสุก ปริมาณครึ่งผล (130 กรัม) มีน้ำตาล 20 กรัม

รวมไปถึงผลไม้แปรรูปบางประเภทด้วย อย่างเช่น

  • ผลไม้เชื่อม ผลไม้กวน เนื่องจากจะมีน้ำตาลสูงกว่าผลไม้ปกติ
  • ผลไม้อบแห้ง เนื่องจากมีน้ำตาลสูง และเมื่อกินแล้วก็มักจะอยู่ท้องน้อยกว่าผลไม้ปกติ
  • น้ำผลไม้ เนื่องจากมีน้ำตาลสูง และเมื่อกินแล้วก็มักจะอยู่ท้องน้อยกว่าผลไม้แบบเป็นลูก

ทั้งนี้ ผลไม้ทั่วไปอื่นๆ ก็มีส่วนทำให้ไตรกลีเซอไรด์เพิ่มสูงขึ้นได้เช่นกันหากได้รับมากเกินไป จุดสำคัญจึงอยู่ที่การควบคุมปริมาณ เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและพลังงานเกิน (ผู้ที่สนใจก็สามารถดูข้อมูลน้ำตาลในผลไม้เพิ่มเติมได้จากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)

วิธีลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด

แม้ผลไม้จะมีส่วนทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นหากได้รับมากเกินควร แต่ก็ถือเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ผู้ที่มีปัญหาไตรกลีเซอไรด์สูงถ้าจะลดให้ได้ผล ก็จะต้องดูแลปัจจัยต่างๆ ให้ครบถ้วนครอบคลุม ซึ่งก็จะมีวิธีการดังนี้

  • ควบคุมพลังงานจากอาหาร เนื่องจากร่างกายจะเปลี่ยนพลังงานส่วนเกินให้เป็นไตรกลีเซอไรด์ การได้รับพลังงานเกินกว่าความต้องการจึงเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่จะทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • จำกัดน้ำตาล ในบรรดาสารอาหารที่ให้พลังงาน น้ำตาลจะมีผลต่อไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากที่สุด ไม่ใช่ไขมันอย่างที่หลายคนเข้าใจ การจำกัดปริมาณน้ำตาลที่ได้รับ ไม่ว่าจะมาจากน้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน ไอศครีม ฯลฯ รวมถึงผลไม้ จึงมีส่วนช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้
  • จำกัดข้าวและแป้ง เนื่องจากอาหารจำพวกข้าวและแป้งจะถูกย่อยเป็นน้ำตาล การได้รับข้าวและแป้งเกินจำเป็น โดยเฉพาะประเภทที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว เบเกอรี่ทั่วไป ฯลฯ จึงมีส่วนทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • จำกัดแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์ก็เป็นอีกตัวการสำคัญที่ทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น การงดหรือจำกัดปริมาณการดื่มจึงมีส่วนช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้
  • เน้นกินอาหารที่ดีต่อไขมันในเลือดมากขึ้น เช่น ข้าวแป้งขัดสีน้อย ผัก ผลไม้น้ำตาลต่ำ ถั่ว เมล็ด ธัญพืช นมไขมันต่ำ เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ ฯลฯ เพื่อแทนที่อาหารที่มีผลเสีย
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายได้นำพลังงานไปใช้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้
  • ดูแลโรคและสภาวะร่างกายที่มีผลต่อไตรกลีเซอไรด์ในเลือด อย่างเช่น ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ดูแลระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ฯลฯ
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้ดูแลเรื่องการปรับยา หากยาที่ใช้อยู่มีผลข้างเคียงทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
  • อาจใช้ยาลดไขมันช่วย หากแพทย์ผู้ดูแลพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสม

การดูแลสุขภาพหลอดเลือดตามทัศนะการแพทย์จีน

นอกจากการดูแลไตรกลีเซอไรด์ในเลือดแล้ว การแพทย์สมุนไพรจีนก็ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยดูแลสุขภาพหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเน้นไปที่การบำบัดแบบองค์รวมและปรับสมดุลร่างกายผ่านกลไกต่างๆ ดังนี้

  • ปรับสมดุลตับ เพื่อให้ตับผลิตไขมันในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ผลิตไขมันมากหรือเร็วเกินไป
  • ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ เพิ่ม HDL เพื่อส่งเสริมการนำ LDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีไปทำลายที่ตับ
  • สลายภาวะเลือดคั่ง ลดความข้นหนืดของเซลล์เม็ดเลือด
  • ยับยั้งการก่อตัวของลิ่มเลือด
  • ผลักดันการไหลเวียนของเลือด เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดฝอย
  • ลดการแข็งตัวและเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือด

ท่านที่สนใจดูแลไขมันในเลือดและสุขภาพหลอดเลือดตามทัศนะการแพทย์จีน ก็สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์แผนจีนและผู้เชี่ยวชาญได้ที่ไอดีไลน์ @enwei

จบแล้วกับคำถามที่ว่า ไขมันในเลือดสูง ห้ามกินผลไม้อะไรบ้าง พร้อมด้วยข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางเอินเวย์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ

เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์จีน เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดี

YouTube player
ปรึกษาแพทย์จีน
ปรึกษาแพทย์จีน
Scroll to Top