คอเลสเตอรอลในเลือดที่มักถูกมองว่าเป็นตัวร้าย แท้จริงแล้วก็มีชนิดดีด้วยเช่นกัน โดยคอเลสเตอรอลชนิดดีนั้นจะมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า ไขมันดี หรือ HDL ส่วนคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีก็จะมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า ไขมันเลว หรือ LDL
สำหรับท่านใดที่ต้องการทำความเข้าใจกับคอเลสเตอรอลแต่ละชนิดให้ดีขึ้น รวมถึงวิธีเพิ่มหรือลดให้เหมาะสม เอินเวย์ ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์สมุนไพรจีนสมัยใหม่ ก็ขออาสามาให้ข้อมูลในบทความนี้เองค่ะ
(เพื่อลดความสับสน บทความนี้จะใช้คำว่า “ไขมันดี HDL” และ “ไขมันเลว LDL” ในการเรียกชื่อคอเลสเตอรอลแต่ละชนิด)
ไขมันดี HDL คืออะไร
ไขมันดี HDL คือคอเลสเตอรอลชนิดที่จะดูดซับคอเลสเตอรอลในเลือดไปทำลายที่ตับ ซึ่งการมีค่าไขมันดี HDL ในเลือดสูง จะมีผลช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และในทางกลับกัน การมีค่าไขมันดี HDL ในเลือดต่ำ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น
ไขมันเลว LDL คืออะไร
ไขมันเลว LDL คือคอเลสเตอรอลชนิดหลักที่พบได้ทั่วไปในร่างกาย ซึ่งการมีค่าไขมันเลว LDL ในเลือดสูง ก็จะทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น
ค่าปกติของไขมันดี HDL และไขมันเลว LDL คือเท่าไหร่
สำหรับเกณฑ์ค่าปกติของระดับไขมันดี HDL และไขมันเลว LDL ในเลือด ก็จะมีรายละเอียดดังตารางต่อไปนี้
ตารางแสดงเกณฑ์ระดับไขมันดี HDL ในเลือด
เกณฑ์ | ค่าไขมันดี HDL ในผู้ชาย (มิลลิกรัม/เดซิลิตร) | ค่าไขมันดี HDL ในผู้หญิง (มิลลิกรัม/เดซิลิตร) |
---|---|---|
ปกติ | ≥ 60 | ≥ 60 |
เริ่มต่ำ | 40-59 | 50-59 |
ต่ำ | < 40 | < 50 |
ตารางแสดงเกณฑ์ระดับไขมันเลว LDL ในเลือด
เกณฑ์ | ค่าไขมันเลว LDL (มิลลิกรัม/เดซิลิตร) |
---|---|
ปกติ | < 100 |
ใกล้เคียงปกติ | 100-129 |
เริ่มสูง | 130-159 |
สูง | 160-189 |
สูงมาก | ≥ 190 |
ไขมันดี HDL ต่ำเกิดจากอะไร
ภาวะไขมันดี HDL ในเลือดต่ำ จะเกิดได้จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างเช่น
พฤติกรรมการใช้ชีวิต
- การได้รับไขมันทรานส์
- การได้รับน้ำตาลเกิน
- การขาดกิจกรรมทางกาย
- การสูบบุหรี่
โรคและสภาวะสุขภาพ
- วัยหมดประจำเดือน
- น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์
- ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม
- โรคทางพันธุกรรมบางชนิด
- โรคเบาหวาน
ยาที่ใช้
- ยากลุ่มอนาบอลิกสเตียรอยด์
- ยาฮอร์โมนแอนโดรเจน
- ยาโปรเจสติน
- ยาลดความดันกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์
- ยาขับปัสสาวะบางชนิด
ไขมันเลว LDL สูงเกิดจากอะไร
ภาวะไขมันเลว LDL ในเลือดสูง จะเกิดได้จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างเช่น
พฤติกรรมการใช้ชีวิต
- การได้รับไขมันอิ่มตัวเกิน
- การได้รับไขมันทรานส์
- การได้รับน้ำตาลเกิน
- การขาดกิจกรรมทางกาย
- การสูบบุหรี่
โรคและสภาวะสุขภาพ
- วัยหมดประจำเดือน
- น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์
- โรคทางพันธุกรรมบางชนิด
- โรคเบาหวาน
- โรคตับ
- ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ
ยาที่ใช้
- ยาสเตียรอยด์
- ยาลดความดันกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์
- ยาขับปัสสาวะบางชนิด
- ยาต้านเชื้อ HIV บางตัว
วิธีเพิ่มไขมันดี HDL และลดไขมันเลว LDL
สำหรับวิธีเพิ่มไขมันดี HDL และลดไขมันเลว LDL ในเลือด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ก็จะมีรายละเอียดดังนี้
- จำกัดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน น้ำมันสัตว์ เนย น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ ฯลฯ เนื่องจากการได้รับไขมันอิ่มตัวเกิน จะมีผลทำให้ไขมันเลว LDL เพิ่มสูงขึ้น
- เลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น เนยเทียมและเนยขาวบางสูตร รวมถึงอาหารที่มีเนยเทียมและเนยขาวเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ เนื่องจากการได้รับไขมันทรานส์จะมีผลทำให้ไขมันดี HDL ลดลง และทำให้ไขมันเลว LDL เพิ่มขึ้น (ประเทศไทยห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายไขมันทรานส์ตั้งแต่ปี 2019)
- จำกัดอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน แยม เค้ก คุกกี้ ไอศครีม ฯลฯ เนื่องจากการได้รับน้ำตาลเกินจะมีผลทำให้ไขมันดี HDL ลดลง และทำให้ไขมันเลว LDL เพิ่มขึ้น
- กินอาหารที่มีไขมันมูฟ่ามากขึ้น เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันคาโนล่า น้ำมันมะกอก ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ แมคคาเดเมีย ฯลฯ เนื่องจากการได้รับไขมันมูฟ่าแทนที่ไขมันอิ่มตัวจะมีส่วนช่วยลดไขมันเลว LDL
- กินอาหารที่มีใยอาหารละลายน้ำมากขึ้น เช่น แอปเปิล (พร้อมเปลือก) กล้วย ส้ม ฝรั่ง บร็อคโคลี่ แครอท หน่อไม้ ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต โฮลวีท ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วลิสง เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ เนื่องจากการได้รับใยอาหารชนิดละลายน้ำจะมีส่วนช่วยลดไขมันเลว LDL
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เน้นประเภทแอโรบิคที่ความหนักระดับปานกลาง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที อย่างเช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก ฯลฯ ซึ่งจะมีผลทั้งช่วยเพิ่มไขมันดี HDL และช่วยลดไขมันเลว LDL
- ลดน้ำหนัก ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ การลดน้ำหนักอย่างน้อย 5-10% จะมีผลช่วยเพิ่มไขมันดี HDL ลดไขมันเลว LDL อีกทั้งยังสามารถช่วยลดความดันและระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากสารพิษจากควันบุหรี่จะมีผลทำให้ไขมันดี HDL ลดลง ทำให้ไขมันเลว LDL เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีผลกระตุ้นการทำงานของหัวใจและทำร้ายหลอดเลือดโดยตรง
- ดูแลโรคที่เป็นต้นเหตุ เช่น ดูแลน้ำตาลและฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- ปรับยาที่ใช้ หากยาที่ใช้มีผลข้างเคียงทำให้ไขมันดี HDL ลดลง หรือทำให้ไขมันเลว LDL เพิ่มขึ้น ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้ดูแล เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรเปลี่ยนหรือหยุดยาเองเป็นอันขาด
- ใช้ยาลดคอเลสเตอรอล หากการปรับพฤติกรรมไม่ได้ผล หรือแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่าควรใช้ยาช่วย แพทย์ก็จะจ่ายยาลดคอเลสเตอรอลให้เพื่อช่วยลดไขมันเลว LDL
การดูแลสุขภาพหลอดเลือดตามทัศนะการแพทย์จีน
การแพทย์จีนนิยมใช้วิธีบำบัดแบบองค์รวมและปรับสมดุลร่างกาย ผ่านตำรับยาที่สกัดจากพืชสมุนไพรธรรมชาติหลายชนิด เพื่อการดูแลสุขภาพหลอดเลือดที่ครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งก็จะมีหลักการทำงานดังนี้
- ปรับสมดุลตับ เพื่อให้ตับผลิตไขมันในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ผลิตไขมันมากหรือเร็วเกินไป
- ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ เพิ่ม HDL เพื่อส่งเสริมการนำ LDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีไปทำลายที่ตับ
- สลายภาวะเลือดคั่ง ลดความข้นหนืดของเซลล์เม็ดเลือด
- ยับยั้งการก่อตัวของลิ่มเลือด
- ผลักดันการไหลเวียนของเลือด เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดฝอย
- ลดการแข็งตัวและเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือด
ท่านที่สนใจดูแลไขมันในเลือดและสุขภาพหลอดเลือดตามทัศนะการแพทย์จีน ก็สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์แผนจีนและผู้เชี่ยวชาญได้ที่ไอดีไลน์ @enwei
จบแล้วกับประเด็นคำถามที่ว่า ไขมันดี HDL และไขมันเลว LDL คืออะไร มีวิธีเพิ่มลดอย่างไร พร้อมด้วยข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางเอินเวย์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ
เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์จีน เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดี