โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก (Stroke) ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 ของโลก รองลงมาจากโรคหัวใจขาดเลือด และยังเป็นสาเหตุของความพิการอันดับที่ 3 รองลงมาจากภาวะพิการแต่กำเนิดและโรคหัวใจขาดเลือดอีกด้วย อ้างอิงจากข้อมูลเมื่อปี 2019 โดยองค์การอนามัยโลก
ส่วนในไทยนั้น โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ก็เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 รองลงมาจากโรคหัวใจขาดเลือดเช่นกัน ทั้งยังมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
จากข้อมูลเหล่านี้ การเรียนรู้วิธีสังเกตอาการเริ่มแรกรวมถึงแนวทางการรับมือกับโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก จึงนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อที่จะได้ช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น โดยทางเอินเวย์ ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์สมุนไพรจีนสมัยใหม่ ก็ได้นำข้อมูลมาให้ชมกันในบทความนี้แล้วค่ะ
โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก คืออะไร ทำไมถึงอันตราย
โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก คือสภาวะที่เส้นเลือดในสมองเกิดความผิดปกติจนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ หากรักษาไม่ทันการก็จะเกิดความเสียหายถาวรต่อสมองและระบบประสาท ซึ่งจะนำไปสู่ความพิการหรือเสียชีวิต
หลักๆ แล้ว โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก จะแบ่งตามลักษณะของโรคได้เป็น 2 ชนิด คือ
- โรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือตัน (Ischemic Stroke)
- โรคเส้นเลือดในสมองแตก (Hemorrhagic Stroke)
วิธีสังเกตอาการเริ่มแรกเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก
สำหรับวิธีสังเกตอาการเริ่มแรกของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก เพื่อเป็นการคัดกรองโรคให้สามารถรู้ตัวและเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ก็จะสามารถทำได้โดยใช้หลัก BE FAST ดังนี้
- B – Balance ยืนเซ เดินเซ การทรงตัวของร่างกายผิดปกติ
- E – Eyes ตามัว มองไม่เห็น การมองเห็นเปลี่ยน
- F – Face หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว
- A – Arms แขนขาชาหรืออ่อนแรง
- S – Speech พูดไม่ออก พูดไม่ชัด พูดลำบาก มึนงง
- T – Time เวลาก่อนเริ่มการรักษาเป็นสิ่งสำคัญ หากมีอาการใดๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นแบบเฉียบพลัน ก็ควรรีบรับการวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยลดโอกาสพิการหรือเสียชีวิต
โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก เกิดจากอะไร
สาเหตุหลักของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก จะเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการอุดตันหรือเกิดความเสียหายแก่เส้นเลือดบริเวณสมอง ซึ่งก็ได้แก่
- โรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากระดับความดันที่สูงเกินเกณฑ์จะมีผลทำให้หลอดเลือดเสียหาย และยังอาจเอื้อให้เกิดการสะสมของไขมันบริเวณผนังหลอดเลือดได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
- โรคเบาหวาน การมีน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์ก็จะมีผลทำให้หลอดเลือดเสียหายได้เช่นกัน
- โรคไต ข้อมูลงานวิจัยปัจจุบันพบว่า ผู้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังจะมีความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก มากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า
- ภาวะไขมันในเลือดสูง เนื่องจากการมีไขมันในเลือดสูง ไม่ว่าจะเป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) หรือไตรกลีเซอไรด์ ก็จะทำให้เสี่ยงเกิดหลอดเลือดอุดตันมากขึ้น
- น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ ยิ่งน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ ความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ก็จะยิ่งสูงขึ้น
- มลพิษทางอากาศ อีกปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ที่มักจะถูกมองข้ามก็คือมลพิษทางอากาศ ซึ่งก็มีงานวิจัยพบว่าจะมีผลเพิ่มความเสี่ยงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- การสูบบุหรี่ การได้รับสารพิษจากควันบุหรี่ไม่ว่าจะมาจากการสูบเองหรือสูบโดยผู้อื่นก็จะมีผลทำร้ายหลอดเลือด ทำให้เสี่ยงเกิดโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก เพิ่มขึ้น
- พฤติกรรมการกินที่ไม่ดี อย่างเช่น การได้รับพลังงาน ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ น้ำตาล และโซเดียมเกิน รวมถึงการได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพหลอดเลือดไม่เพียงพอ อย่างเช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืช ปลา ฯลฯ
- การขาดกิจกรรมทางกาย ผู้ที่ขาดการออกกำลังกายจะมีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก เพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง ฯลฯ
- การได้รับแอลกอฮอล์เกิน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินควร อย่างเช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ จะส่งผลกระทบต่อร่างกายในหลายๆ ด้าน อย่างเช่น น้ำหนักตัว ความดัน ภาวะดื้ออินซูลิน จึงมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก
วิธีป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก
จากข้อมูลปัจจัยเสี่ยงข้างต้น วิธีป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก จึงสามารถทำได้ดังนี้
- ดูแลความดันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- ดูแลน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- ดูแลไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- ดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- ดูแลป้องกันการเสื่อมของไต
- ปกป้องตัวเองจากมลพิษทางอากาศ
- งดสูบบุหรี่
- ปรับพฤติกรรมการกินให้เหมาะสม
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- จำกัดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก รักษาหายไหม
แม้โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก อาจส่งผลให้เสียชีวิตหรือเกิดความเสียหายถาวรต่อระบบประสาท แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ผู้ป่วยจึงมีโอกาสรักษาหายได้มากกว่าแต่ก่อน โดยผลการรักษานั้นก็จะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยเป็นสำคัญ ได้แก่
- ระยะเวลาก่อนการรักษา โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ยิ่งรักษาเร็วก็จะยิ่งช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสมองและระบบประสาทได้มาก ส่งผลให้มีโอกาสพิการหรือเสียชีวิตลดลง
- แนวทางการรักษา การดูแลรักษาทั้งในช่วงเริ่มต้นและช่วงพักฟื้นอย่างเหมาะสม ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีผลลัพธ์การรักษาที่ดี
- สภาวะสุขภาพของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มีปัจจัยทางด้านสุขภาพที่ดี เช่น ยังมีอายุไม่มาก ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน ฯลฯ ก็มักจะมีผลการรักษาที่ดีกว่า และถ้าเทียบกันแล้ว ผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดในสมองตีบหรือตัน ก็จะมีแนวโน้มเห็นผลการรักษาที่ดีกว่าผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดในสมองแตก
วิธีรักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก
วิธีรักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก จะแบ่งตามประเภทของโรคได้ดังนี้
1. เส้นเลือดในสมองตีบหรือตัน
แพทย์จะรักษาโดยใช้ยาฉีดละลายลิ่มเลือด Tissue Plasminogen Activator (tPA) หากผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาลภายในช่วง 3-4.5 ชั่วโมงหลังมีอาการเริ่มแรก ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยก็พบว่า tPA นั้นจะช่วยเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวและช่วยลดโอกาสพิการของผู้ป่วย (นี่เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมการรู้จักสังเกตอาการเริ่มแรกเพื่อให้สามารถส่งเข้ารับการรักษาได้เร็วจึงมีความสำคัญ)
หากผู้ป่วยไม่สามารถใช้ tPA ได้ แพทย์ก็อาจใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่ขึ้น
นอกจากการใช้ยาแล้ว ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดหรือหัตถการอื่นๆ เพื่อแก้ไขเส้นเลือดที่ตีบตัน ให้เลือดสามารถไปเลี้ยงสมองได้ตามปกติ
2. เส้นเลือดในสมองแตก
การรักษาภาวะเส้นเลือดในสมองแตกนั้นก็อาจประกอบไปด้วยการห้ามเลือด การให้เลือดทดแทน การนำเลือดคั่งออก การให้ยาลดความดัน ฯลฯ โดยหลักการก็จะคล้ายกับการรักษาภาวะเส้นเลือดในสมองตีบหรือตัน ซึ่งก็คือควรรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสมอง
โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก มีโอกาสรอดมากน้อยเพียงใด
สำหรับตัวอย่างข้อมูลอัตราการรอดชีวิตก็จะมีงานวิจัยในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ตีพิมพ์ในปี 2022 โดยใช้ข้อมูลของผู้ที่ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ครั้งแรกระหว่างปี 2008-2017 จำนวนทั้งสิ้น 313,162 คน ซึ่งก็ได้พบผลการศึกษาดังนี้
- อัตราการรอดชีวิตที่ 3 เดือน – 79.4%
- อัตราการรอดชีวิตที่ 1 ปี – 73.0%
- อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี – 52.8%
- อัตราการรอดชีวิตที่ 10 ปี – 36.4%
(ข้อมูลนี้จะคิดจากทุกสาเหตุการเสียชีวิต ข้อมูลในช่วงปีหลังๆ จึงไม่ได้สะท้อนถึงอัตราการรอดชีวิตจากโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก มากเท่าข้อมูลช่วงแรก)
ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นเพียงข้อมูลภาพรวมเท่านั้น ซึ่งถ้ามองเจาะลึกลงไปแล้ว โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก แต่ละคน ก็จะอิงอยู่กับปัจจัยต่างๆ อย่างเช่น
- ผู้ที่มีเส้นเลือดในสมองแตกจะมีอัตราการรอดชีวิตต่ำกว่าผู้ที่มีเส้นเลือดในสมองตีบหรือตัน
- ผู้ที่ได้รับการรักษาช้าจะมีอัตราการรอดชีวิตต่ำกว่าผู้ที่ได้รับการรักษาเร็ว
- ในผู้ใหญ่ ผู้ที่มีอายุมากจะมีอัตราการรอดชีวิตต่ำกว่าผู้ที่มีอายุน้อย
- ผู้หญิงจะมีอัตราการรอดชีวิตต่ำกว่าผู้ชาย
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค อย่างเช่น โรคเบาหวาน จะมีอัตราการรอดชีวิตต่ำกว่าผู้ที่ไม่มีโรค
อาการหลังเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก
ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก หากรักษาจนพ้นขีดอันตรายแล้ว ก็อาจยังคงมีอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท อย่างเช่น
- เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต (ร่างกายอ่อนแรงบางส่วนหรือทั้งตัว อาจพอเคลื่อนไหวได้บ้างหรือไม่ได้เลย)
- รู้สึกชาหรือรู้สึกถึงสัมผัสแปลกๆ บริเวณส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- รู้สึกเจ็บบริเวณมือและเท้า อาการจะแย่ลงเมื่อเคลื่อนไหวหรือเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยน
- มีปัญหาการนึกคิด การเรียนรู้ สมาธิ ความจำ การตัดสินใจ
- มีปัญหาการพูดหรือการเข้าใจภาษา
- มีปัญหาการควบคุมอารมณ์หรือการแสดงออกทางอารมณ์
- มีปัญหาการเคี้ยวหรือกลืน
- มีปัญหาการขับถ่าย
- มีอาการซึมเศร้า
การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก
จากข้อมูลข้างต้น การดูแลฟื้นฟูร่างกายหลังการรักษาจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยอาจต้องใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ทั้งนี้ แม้ผู้ป่วยบางคนจะสามารถฟื้นฟูร่างกายจนกลับมาเป็นปกติได้ แต่สำหรับบางคน ก็จะมีความพิการหลงเหลืออยู่อย่างถาวร
สำหรับแนวทางการบำบัดฟื้นฟูร่างกายหลังการรักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตกนั้น ก็อาจประกอบไปด้วย
- อรรถบำบัด (Speech Therapy) เพื่อแก้ปัญหาการพูดและการเข้าใจภาษา
- กายภาพบำบัด (Physical Therapy) เพื่อแก้ปัญหาการเคลื่อนไหวและการทำงานประสานกันของร่างกาย
- กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้เป็นปกติยิ่งขึ้น อย่างเช่น กิน ดื่ม อาบน้ำ แต่งตัว อ่าน เขียน ฯลฯ
การกลับมาเป็นซ้ำของผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก
ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก เมื่อรักษาหายแล้วก็จะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำค่อนข้างสูง การใส่ใจดูแลปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อลดโอกาสในการเป็นซ้ำจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ตัวอย่างข้อมูลอัตราการกลับมาเป็นซ้ำของผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก อ้างอิงจากงานวิจัยในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เมื่อปี 2022 ก็ได้แก่
- อัตราการกลับมาเป็นซ้ำที่ 3 เดือน – 7.8%
- อัตราการกลับมาเป็นซ้ำที่ 1 ปี – 11.0%
- อัตราการกลับมาเป็นซ้ำที่ 5 ปี – 19.8%
- อัตราการกลับมาเป็นซ้ำที่ 10 ปี – 26.8%
การดูแลหลอดเลือดสมองในทัศนะการแพทย์จีน
การดูแลหลอดเลือดสมอง การแพทย์จีนจะนิยมใช้วิธีบำบัดแบบองค์รวมและปรับสมดุลร่างกาย ผ่านตำรับยาที่สกัดจากพืชสมุนไพรธรรมชาติหลายชนิด เพื่อผลลัพธ์ที่ครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งก็จะมีหลักการทำงานดังนี้
- ปรับสมดุลตับ เพื่อให้ตับผลิตไขมันในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ผลิตไขมันมากหรือเร็วเกินไป
- ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ เพิ่ม HDL เพื่อส่งเสริมการนำ LDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีไปทำลายที่ตับ
- สลายภาวะเลือดคั่ง ลดความข้นหนืดของเซลล์เม็ดเลือด
- ยับยั้งการก่อตัวของลิ่มเลือด
- ผลักดันการไหลเวียนของเลือด เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดฝอย
- ลดการแข็งตัวและเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือด
ท่านที่สนใจดูแลหลอดเลือดสมองตามทัศนะการแพทย์จีน ก็สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์แผนจีนและผู้เชี่ยวชาญได้ที่ไอดีไลน์ @enwei
จบแล้วกับวิธีสังเกตอาการเริ่มแรกของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก พร้อมด้วยข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางเอินเวย์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ
เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์จีน เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดี