คนปกติเวลาฉี่หรือปัสสาวะอาจจะมีฟองขาวๆ บ้าง แต่ถ้ามีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ ก็จะทำให้ปัสสาวะเป็นฟอง มีลักษณะเหมือนฟองเบียร์หรือฟองสบู่ สำหรับผู้ที่ปัสสาวะเป็นฟองและปัสสาวะขุ่น (อาจเกิดจากการมีเม็ดเลือดแดงรั่วออกมาด้วย) เป็นข้อสันนิษฐานที่มีน้ำหนักมากว่าจะเป็นโรคไต เหตุไฉนโปรตีนและเม็ดเลือดแดงจึงรั่วออกมาในปัสสาวะ
หน่วยไตอักเสบเรื้อรังคืออะไร
ไตเป็นอวัยวะสำคัญในการขับน้ำส่วนเกินและของเสียในแต่ละวัน ไตจะต้องกรองเลือดที่ไหลเวียนผ่านมาราว ๆ 1,700 ลิตร จึงได้ของเสียและน้ำส่วนเกินประมาณ 1.5 ลิตร แล้วขับออกจากร่างกายในรูปของปัสสาวะ ไตแต่ละข้างมีหน่วยกรอง (Nephron) มากกว่าหนึ่งล้านหน่วย ซึ่งประกอบด้วยกระจุกหลอดเลือดฝอยที่เรียกว่าหน่วยไต (Glomerulus) เยื่อโบว์แมนและหลอดไตย่อย หากมีการอักเสบเกิดขึ้นที่หน่วยไต ก็จะทำให้การกรองเลือดไร้ประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีโปรตีนและเม็ดเลือดแดงรั่วออกมาในปัสสาวะ แต่เนื่องจากไตแต่ละข้างมีหน่วยไตมากกว่าหนึ่งล้านหน่วย ผู้ป่วยหน่วยไตอักเสบเรื้อรังจึงอาจไม่ปรากฏอาการในระยะแรก จนกว่าหน่วยไตเสียหายไปเป็นจำนวนมาก ถึงจะปรากฏอาการผิดปกติต่างๆ ออกมา หน่วยไตอักเสบเรื้อรังพบได้ในคนทุกเพศทุกวัยและจะนำไปสู่ไตวายเรื้อรังในที่สุด
หน่วยไตอักเสบเรื้อรังมีอาการเป็นอย่างไรบ้าง
หน่วยไตอักเสบเรื้อรังทำให้น้ำส่วนเกินและของเสียไม่ถูกขับออก จึงเกิดการคั่งจนเป็นพิษต่อร่างกาย ผู้ป่วยจึงมีกลุ่มอาการได้หลายแบบ และมีการดำเนินของโรคอย่างเรื้อรัง อาจปรากฏอาการที่รุนแรงหรือไม่รุนแรงก็ได้ หรืออาจตรวจพบไตวายร่วมกับการมีโปรตีนและเม็ดเลือดแดงรั่วในปัสสาวะเป็นครั้งแรก โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวมาก่อนก็ได้ ส่วนอาการที่พบบ่อยและสิ่งที่ตรวจพบมีดังนี้
- อาการทางร่างกาย ปวดหลังปวดเอว อ่อนเพลียเรื้อรัง ไม่มีเรี่ยวแรง วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ฯลฯ
- ปัสสาวะบ่อย ฉี่บ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน
- อาการบวมน้ำตามร่างกาย ผู้ป่วยมักจะมีน้ำส่วนเกินคั่งอยู่ในร่างกายมากกว่า 3 ลิตร แล้วจึงปรากฏอาการบวมน้ำตามร่างกาย
- ปัสสาวะมีเลือด อาจมองเห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือในรายที่รุนแรงก็จะมองเห็นด้วยตาเปล่า เช่น น้ำปัสสาวะสีแดง เหมือนน้ำหมากหรือน้ำล้างเนื้อ เป็นต้น
- ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยจะมีความดันโลหิตสูงขึ้นเรื่อยๆ
- ภาวะโลหิตจาง เนื่องจากไตลดการสร้างฮอร์โมนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง
- ตรวจพบโปรตีนและเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ หน่วยไตเสียหายมาก จนไม่สามารถกรองโปรตีนและเม็ดเลือดแดงกลับไปสู่ร่างกาย
- ค่า BUN และ Creatinine ผิดปกติ แสดงว่าหน่วยไตเสียหายมากกว่า 70-75% ทำให้ไตขับของเสียได้ไม่เต็มที่ จึงเกิดการคั่งของของเสียจนเป็นพิษต่อร่างกาย
หน่วยไตอักเสบเรื้อรังเกิดจากสาเหตุอะไร
ถึงแม้ว่าปัจจุบันการแพทย์ตะวันตก ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคของผู้ป่วยส่วนใหญ่ แต่ก็ได้สันนิษฐานว่าส่วนใหญ่อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ที่เข้าใจผิดว่าตัวเนื้อไตเองเป็นสารแปลกปลอม จึงมีการสร้างสารภูมิต้านทานไปเกาะที่เนื้อไต จนทำให้เนื้อไตเกิดพยาธิสภาพในรูปแบบต่างๆ
ส่วนการแพทย์จีนได้จัดหน่วยไตอักเสบเรื้อรัง ให้อยู่ในกลุ่มโรคของบวมน้ำตามร่างกาย (水肿) ปัสสาวะมีเลือด (血尿) ปวดหลังปวดเอว (腰痛 ไตอยู่ตรงตำแหน่งของเอว) ภาวะเลือดคั่ง (血瘀症) และภาวะพร่องพลัง (虚劳) จึงนิยมใช้วิธีบำบัดแบบองค์รวม เพื่อบำบัดกลุ่มอาการของหน่วยไตอักเสบเรื้อรัง
- บวมน้ำตามร่างกาย ไตมีหน้าที่ควบคุมความสมดุลของน้ำในร่างกาย โดยอาศัยพลังไฟมิ่งเหมิน (命门之火) จากไตในการระเหยน้ำให้กลายเป็นไอ แล้วส่งไปยังปอด และปอดก็จะส่งกระจายต่อไปทั่วร่างกาย ส่วนน้ำส่วนเกินก็จะถูกขับไปยังกระเพาะปัสสาวะ เมื่อน้ำปัสสาวะมีปริมาณมากพอควร ก็จะถูกขับออกจากร่างกาย เมื่อไตเสื่อมลง พลังไฟมิ่งเหมินก็จะอ่อนลงด้วย ทำให้ความสามารถในการระเหยน้ำลดลง น้ำก็จะไหลล้นไปอยู่ที่ใต้ผิวหนัง ส่งผลให้เกิดอาการบวมน้ำตามร่างกาย พร้อมทั้งมีอาการปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะตอนกลางคืน ต้องลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำ
- โปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ ไตมีหน้าที่เก็บสารจิง (精) โดยอาศัยพลังชี่ของไต (肾气) ในการกักเก็บ สารจิงคือสารจำเป็นในการดำรงชีวิต ซึ่งประกอบด้วยสารจิงที่มีมาแต่กำเนิด โดยได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่ตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ และสารจิงภายหลังกำเนิด ซึ่งได้รับจากอาหารการกินเพื่อมิให้สารจิงพร่องลง เมื่อไตเสื่อมลง พลังชี่ในไตก็จะพร่องลงด้วย ทำให้ความสามารถในการกักเก็บของไตพร่องลง โปรตีนจึงรั่วออกมาทางปัสสาวะ
- ปัสสาวะมีเลือด ตับเก็บสะสมเลือด ไตกักเก็บสารจิง ตับและไตนอกจากจะทำงานเกื้อหนุนซึ่งกันและกันแล้ว ยังส่งผลกระทบซึ่งกันและกันได้ด้วย (肝肾同源) เพื่อทดแทนซึ่งกันและกัน รวมทั้งพยาธิสภาพของหยิน-หยางภายในตับและไต ก็มักออกมาในลักษณะเดียวกันคือ ตับและไตมักจะหยินพร่อง (阴虚) หรือหยางพร่อง (阳虚) พร้อมกันทั้งคู่ หากตับและไตเกิดภาวะหยินพร่องพร้อมกันทั้งคู่ ก็จะเกิดภาวะพิษร้อนที่ตับและไต ส่งผลให้เส้นลมปราณในไตเกิดความเสียหาย และไม่สามารถควบคุมเลือด ให้ไหลเวียนอยู่ในวงจรปกติได้ จนเกิดภาวะการเสียเลือด (内热迫血妄行) และรั่วออกมาในปัสสาวะ
วิธีบำบัดของการแพทย์จีนเป็นอย่างไร
เป็นที่ทราบกันว่า หน่วยไตอักเสบเรื้อรังส่งผลกระทบต่อทุกๆ ระบบของร่างกาย การแพทย์จีนจึงนิยมใช้วิธีการบำบัดแบบองค์รวม โดยใช้สมุนไพรจีนที่บำบัดกลุ่มโรคของอาการบวมน้ำตามร่างกาย ปวดหลังปวดเอว และปัสสาวะมีเลือด เพื่อบำบัดกลุ่มอาการของหน่วยไตอักเสบเรื้อรัง โดยมีกลไกออกฤทธิ์สำคัญดังนี้
- กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตและขจัดภาวะเลือดคั่งในหน่วยไต ทำให้อัตราการกรองของหน่วยไต (Glomerular Filtration Rate, GFR) เพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ประสิทธิภาพการกรองของหน่วยไตดีขึ้น
- ฟื้นฟูสมรรถภาพการกรองของผนังหลอดเลือดฝอยของหน่วยไต เพื่อลดปริมาณโปรตีนและเม็ดเลือดแดงที่รั่วในปัสสาวะได้อย่างเด่นชัด
- เพิ่มประสิทธิภาพเม็ดเลือดขาวในการกำจัดสารแปลกปลอม และสารอิมมูนคอมเพล็กซ์ที่ตกตะกอนในหน่วยไต เพื่อขจัดสาเหตุสำคัญของหน่วยไตอักเสบเรื้อรัง
- ช่วยขับปัสสาวะ เพื่อขับน้ำส่วนเกินที่คั่งอยู่ในร่างกาย จึงบรรเทาอาการบวมน้ำตามร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การแพทย์จีนยังเน้นการบำรุงไตและบำบัดความดันโลหิตสูงไปพร้อมๆ กัน เพื่อเพิ่มอัตราการหายของโรค
- การบำรุงไต นอกจากจะช่วยป้องกันหรือชะลอการลุกลามของโรคไปยังหน่วยไตส่วนที่ยังทำงานได้แล้ว ยังสามารถช่วยหยุดยั้งการพัฒนาของโรค หรือฟื้นฟูหน่วยไตส่วนที่เกิดพยาธิสภาพไปแล้ว ที่สำคัญคือ ทำให้ไตกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายทำงานได้สมดุลขึ้น เพิ่มอัตราการหายของหน่วยไตอักเสบเรื้อรัง
- ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยหน่วยไตอักเสบเรื้อรัง มีการดำเนินของโรคเร็วขึ้น เนื่องจากความดันโลหิตสูง เร่งให้ไตเสียหายมากขึ้นและเร็วขึ้น ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดความดันโลหิตสูงจนได้ค่าความดัน ต่ำลงเหลือ 120/80 มม.ปรอท จะมีการดำเนินของโรคช้ากว่าผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงกว่านี้
ร่างกายจึงรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ไม่อ่อนเพลียง่าย อาการโปรตีนและเม็ดเลือดแดงรั่วออกมาในปัสสาวะ อาการบวมน้ำตามร่างกาย แขนขาไม่มีเรี่ยวแรง เบื่ออาหาร ขี้หนาว วิงเวียนศีรษะ และอาการอื่นๆ ของหน่วยไตอักเสบเรื้อรังก็จะค่อยๆ ทุเลาลง