กระเทียมถือเป็นหนึ่งในสมุนไพรขึ้นชื่อที่ถูกใช้มาแต่โบราณ ซึ่งก็ไม่ใช่เฉพาะแค่ในไทยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอีกหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย อียิปต์ ฯลฯ
ด้วยความแพร่หลายนี่เอง หลายคนก็คงจะเคยได้ยินสรรพคุณของกระเทียมในด้านการลดความดัน และอาจมีข้อสงสัยว่าลดได้จริงไหม จำเป็นต้องกินสดหรือไม่ หรือมีวิธีกินที่แนะนำอย่างไร ในบทความนี้ ทางเอินเวย์ก็เลยขออาสาพาทุกท่านไปชมข้อมูลกันแบบชัดๆ เองค่ะ
กินกระเทียมลดความดันได้ไหม
ปัจจุบันก็มีงานวิจัยในด้านสรรพคุณการลดความดันของกระเทียมอยู่พอสมควร ซึ่งจากการรีวิวงานวิจัยหลายชิ้นในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงก็ได้พบว่า กระเทียมนั้นสามารถช่วยลดความดันตัวบนได้เฉลี่ยแล้ว 6.71 mmHg และช่วยลดความดันตัวล่างได้เฉลี่ยแล้ว 4.79 mmHg
กระเทียมที่ใช้ในงานวิจัยเหล่านี้จะมีทั้งแบบผง เม็ด แคปซูล และกระเทียมบ่มสกัด (Aged Garlic Extract) โดยปริมาณที่กินจะอยู่ในช่วง 240-2,400 มิลลิกรัมต่อวัน และระยะเวลาทดลองจะอยู่ระหว่าง 8-12 สัปดาห์
สำหรับกลไกการลดความดันของกระเทียมนั้น หลักๆ คาดว่าอาจเป็นผลมาจากสารอัลลิซิน (Allicin) และสารประกอบซัลเฟอร์อื่นๆ ซึ่งจะช่วยลดความดันผ่านฤทธิ์ส่งเสริมการคลายตัวของหลอดเลือด
ทั้งนี้ แม้ข้อมูลปัจจุบันจะค่อนข้างสนับสนุนสรรพคุณการลดความดันของกระเทียม แต่ด้วยข้อจำกัดในหลายๆ งานวิจัย เช่น มีระยะเวลาทดลองค่อนข้างสั้น ขาดข้อมูลปริมาณสารสำคัญที่แน่ชัด ปริมาณและรูปแบบกระเทียมที่ใช้ค่อนข้างหลากหลาย ฯลฯ เราจึงยังจำเป็นต้องอาศัยงานวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพ วิธีกินที่แนะนำ รวมถึงรายละเอียดสำคัญอื่นๆ ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
จำเป็นต้องกินกระเทียมสดหรือไม่
เรามักได้ยินบ่อยๆ ว่า ถ้าจะกินกระเทียมให้ได้ประโยชน์ก็จะต้องกินสด หรือไม่ก็ต้องทุบทิ้งไว้ 10 นาที ก่อนนำไปประกอบอาหาร เนื่องจากสารอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสารอัลลิอิน (Alliin) และเอนไซม์อัลลิเนส (Alliinase) ในกระเทียมมาคลุกเคล้าทำปฏิกิริยากันเท่านั้น กระบวนการนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าเอนไซม์อัลลิเนสนั้นถูกทำลายโดยความร้อนจากการประกอบอาหารไปเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยช่วงหลังที่ได้ทำการตรวจวัดสาร Allyl Methyl Sulfide ในลมหายใจ ซึ่งเป็นสารที่บ่งชี้ถึงปริมาณสารออกฤทธิ์ในร่างกาย หลังจากที่กินผลิตภัณฑ์กระเทียมในรูปแบบต่างๆ ก็ได้พบว่า กระเทียมที่ผ่านการประกอบอาหาร แม้เอนไซม์อัลลิเนสจะถูกทำลาย ก็สามารถทำให้เกิดสาร Allyl Methyl Sulfide ในลมหายใจได้เช่นกัน แต่เมื่อเทียบกันแล้ว ปริมาณที่เกิดนั้นจะน้อยกว่าการกินกระเทียมแบบสด (ต้ม 16%, เจียว 30%, ดอง 19% เทียบกับการกินกระเทียมสดที่ถูกทุบ)
ข้อมูลงานวิจัยดังกล่าวได้บ่งชี้ว่า ฤทธิ์ของกระเทียมอาจไม่ได้อิงอยู่กับปฏิกิริยาจากเอนไซม์อัลลิเนสเพียงอย่างเดียว แต่อาจมีสารประกอบซัลไฟล์และปฏิกิริยาอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่า กระเทียมที่ปรุงสุกก็อาจให้ประโยชน์แก่ร่างกายได้คล้ายกันกับกระเทียมสด แม้จะต้องกินในปริมาณที่มากกว่าก็ตาม ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ก็จะต้องอาศัยงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจนที่มากขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับการกินกระเทียมเพื่อหวังผลในด้านการลดความดันนั้น เนื่องจากการใช้กระเทียมในรูปผง เม็ด แคปซูล หรือกระเทียมบ่มสกัด จะมีข้อดีตรงที่สะดวกกว่า และสามารถควบคุมปริมาณสารออกฤทธิ์ได้ดีกว่า งานวิจัยและคำแนะนำส่วนใหญ่ จึงมักจะเพ่งเล็งไปที่การใช้กระเทียมในรูปแบบเหล่านี้ มากกว่าการใช้กระเทียมในรูปอาหาร
วิตามินกับฤทธิ์การลดความดันของกระเทียม
งานวิจัยช่วงหลังยังพบอีกว่า วิตามินบี 12 ก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับฤทธิ์การลดความดันของกระเทียมด้วย ผู้ที่ขาดวิตามินบี 12 เมื่อกินกระเทียมแล้ว จึงอาจไม่ค่อยเห็นผลในด้านการลดความดันเท่าใดนัก
นอกจากนี้แล้ว แม้ข้อมูลจากงานวิจัยจะยังไม่ชัด แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าวิตามินบี 6 และโฟเลตก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับฤทธิ์การลดความดันของกระเทียมด้วยเช่นกัน เนื่องจากวิตามินเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นต่อกลไกการคลายตัวของหลอดเลือด เช่นเดียวกันกับวิตามินบี 12
จากข้อมูลเหล่านี้ ทางที่ดี ผู้ที่ต้องการกินกระเทียมเพื่อลดความดัน จึงควรได้รับวิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และโฟเลตอย่างเพียงพอ ซึ่งตัวอย่างอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินเหล่านี้ ก็อย่างเช่น
- วิตามินบี 6 – เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อหมู ทูน่า แซลมอน นมวัว นมถั่วเหลือง กล้วย ถั่ว มันฝรั่ง ฯลฯ
- วิตามินบี 12 – เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อหมู ทูน่า แซลมอน นมวัว ไข่ ฯลฯ
- โฟเลต – ผักใบสีเขียวเข้ม ถั่วลิสง เมล็ดทานตะวัน กล้วย แคนตาลูป ไข่ ฯลฯ
ประโยชน์อื่นๆ ของกระเทียม
กระเทียมยังมีคุณประโยชน์อื่นๆ ที่น่าสนใจอีกด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น
- มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การกินกระเทียมในรูปแบบผง น้ำมัน หรือกระเทียมบ่มสกัด อาจมีผลช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (ชนิด LDL) ในผู้ที่มีปัญหาคอเลสเตอรอลสูงได้ การมีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงนั้น จะถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด
- มีงานวิจัยพบว่า ผู้ที่กินกระเทียมสดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดลดลง 44% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้กิน ซึ่งโรคมะเร็งปอดนั้นถือเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของไทย
นอกจากนี้แล้ว ยังมีงานวิจัยพบสรรพคุณของกระเทียมที่เกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ อีก เช่น โรคไข้หวัด โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งสมอง โรคข้อเสื่อม ฯลฯ แต่เนื่องจากงานวิจัยเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังมีน้ำหนักน้อย เราจึงยังจำเป็นต้องอาศัยการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมก่อนที่จะสามารถสรุปผลได้
โทษของกระเทียม
แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว การกินกระเทียมจะค่อนข้างมีความปลอดภัยสูง แต่กระเทียมก็สามารถก่อให้เกิดโทษบางประการได้เช่นกัน ซึ่งก็ได้แก่
- เลือดแข็งตัวช้า – เนื่องจากกระเทียมมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด หรือได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด จึงควรหลีกเลี่ยงการกินกระเทียมในปริมาณมาก รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการกินกระเทียมในรูปยาหรืออาหารเสริม
- กลิ่นลมหายใจ – เนื่องจากกระเทียมมีสารประกอบซัลเฟอร์ที่มีกลิ่นฉุน การกินกระเทียม โดยเฉพาะกระเทียมสด จึงสามารถส่งผลต่อกลิ่นลมหายใจได้ ซึ่งสำหรับวิธีแก้นั้น ก็มีงานวิจัยพบว่าอาจสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการเคี้ยวใบมิ้นท์ ผักกาดหอมดิบ หรือแอปเปิล
- ท้องอืด – เนื่องจากกระเทียมมีคาร์โบไฮเดรตที่ชื่อว่า Fructan สูง บางคนที่ร่างกายทนต่อ Fructan ได้ไม่ดี เมื่อกินแล้วจึงอาจเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้องได้ ทางที่ดี คนกลุ่มนี้จึงควรพิจารณาจำกัดหรือหลีกเลี่ยงการกินกระเทียม
- อาการโรคกรดไหลย้อนแย่ลง – กระเทียมยังอาจส่งผลรบกวนการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดในหลอดอาหารส่วนล่างได้สำหรับบางคน ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนแล้วมีอาการกำเริบเมื่อกินกระเทียม จึงควรพิจารณาหลีกเลี่ยงด้วยเช่นกัน
การดูแลความดันในทัศนะการแพทย์จีน
การแพทย์จีนนิยมใช้วิธีบำบัดแบบองค์รวมและปรับสมดุลร่างกาย ผ่านตำรับยาที่สกัดจากพืชสมุนไพรธรรมชาติหลายชนิด เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาความดันสูงที่ต้นเหตุ ซึ่งก็จะมีหลักการทำงานดังนี้
- ทำความสะอาดหลอดเลือด – สลายลิ่มเลือดและไขมัน ทำให้หลอดเลือดโล่งสะอาด จึงช่วยป้องกันและบำบัดโรคที่พบบ่อยในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ
- บำรุงไต ให้หยิน-หยางในไตเกิดความสมดุล – ไตจึงสามารถส่งหยินไปหล่อเลี้ยงตับได้อย่างเพียงพอ ช่วยป้องกันไม่ให้ตับร้อนรุ่มจนเกินไป ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของความดันสูง เมื่อตับอยู่ในสภาวะสมดุลก็จะมีการสร้างคอเลสเตอรอลในปริมาณที่เหมาะสม และในขณะเดียวกันเมื่อไตแข็งแรงขึ้น พลังชี่ที่เป็นแรงผลักดันของเลือดก็จะสมบูรณ์ขึ้น ระบบการไหลเวียนของเลือดจึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ท่านที่สนใจดูแลความดันและสุขภาพหลอดเลือดตามทัศนะการแพทย์จีน ก็สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์แผนจีนและผู้เชี่ยวชาญได้ที่ไอดีไลน์ @enwei
จบแล้วกับคำถามที่ว่ากินกระเทียมช่วยลดความดันได้จริงไหม แล้วจำเป็นต้องกินสดหรือไม่ ทางเอินเวย์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ
เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์จีน เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดี