อาการปวดศีรษะมีประมาณ 5% เท่านั้นที่เกิดจากโรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไซนัสอักเสบ เนื้องอกหรือฝีในสมอง หลอดเลือดสมองแตก เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 95% การแพทย์ตะวันตกยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่ก็ได้แบ่งตามลักษณะการปวดดังนี้
ปวดศีรษะแบบไมเกรน (Migraine Headache)
ไมเกรนเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยที่สุดในช่วงอายุ 22-55 ปี ผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย 3 เท่า ประมาณ 70-80% ของผู้ป่วยไมเกรนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย ซึ่งมักจะมีอาการดังนี้
- ปวดตุบๆ ที่ขมับหรือเบ้าตาซีกใดซีกหนึ่ง ตามจังหวะการเต้นของชีพจร แต่บางครั้งก็อาจปวดแบบตื้อๆ ก็ได้ อาจปวดสลับข้างในแต่ละครั้ง หรือปวดพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง มักปวดนานเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ
- ก่อนปวดหรือขณะปวดอาจมีอาการตาพร่า ตาลาย เห็นแสงว็อบแว็บหรือตามืดมัวไปครึ่งซีก
- ถ้าปวดรุนแรงจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
ปวดศีรษะแบบกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension Headache)
ปวดศีรษะแบบกล้ามเนื้อตึงตัวเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และพบบ่อยหลังมีความเครียด ความกังวล การใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรือมีความแปรปรวนของอารมณ์ ซึ่งมักจะมีอาการดังนี้
- ปวดเหมือนถูกคีมหนีบไว้หรือถูกผ้ารัดไว้แน่นๆ
- มีลักษณะปวดตื้อๆ หนักๆ บางคนอาจปวดจี๊ดบริเวณต้นคอ ท้ายทอย ดวงตาหรือขมับ บางรายอาจปวดตื้อไปทั่วศีรษะ
- มักจะปวดตอนบ่ายๆ หรือเย็นๆ เวลาหายก็มักจะหายไม่สนิท จะรู้สึกตื้อๆ ที่ศีรษะอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งต่างจากไมเกรนที่ปวดรุนแรง แต่บทจะหายก็จะไม่เหลืออาการปวดเลย
ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache)
ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ หรือที่เรียกว่าปวดศีรษะจนแทบอยากจะฆ่าตัวตายนั้นมักจะพบในผู้ชาย ไม่เหมือนกับไมเกรนที่พบในผู้หญิงมากกว่า ซึ่งมักจะมีอาการดังนี้
- ปวดตุบๆ บริเวณรอบดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง
- รู้สึกร้อนแปล๊บที่หน้าผากเหมือนมีมีดร้อนๆ มาทิ่ม
- คัดจมูก ตาข้างที่ปวดจะแดงฉ่ำและน้ำตาไหล
- มักจะปวดตอนกลางคืนและปวดตรงเวลาทุกวัน อาจนานเป็น 10-20 นาทีหรือเป็นชั่วโมง บางรายอาจปวดเรื้อรัง เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน
- เวลาปวดจะมีอาการรุนแรงจนอยู่เฉยไม่ได้ต้องเดินไปมา ซึ่งต่างกับไมเกรนที่เวลาปวดมักอยากนอนเฉยๆ ในห้องมืดๆ
ปวดศีรษะแบบผสม (Mixed Headache)
ปวดศีรษะแบบผสมคือ มีทั้งปวดไมเกรนและปวดศีรษะแบบกล้ามเนื้อตึงตัวหรืออาการปวดศีรษะแบบอื่นๆ ร่วมกันในเวลาเดียวกัน สาเหตุของการปวดศีรษะแบบผสมที่พบบ่อยที่สุดคือ การใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด ผู้ป่วยมีประวัติไมเกรนหรือปวดศีรษะแบบกล้ามเนื้อตึงตัว หากทานยาแก้ปวดเป็นประจำ มักจะพัฒนาเป็นการปวดศีรษะแบบผสมเมื่ออายุ 30-40 ปี
สาเหตุของการปวดศีรษะเรื้อรังในทัศนะการแพทย์ตะวันตก
ถึงแม้ว่าปัจจุบันการแพทย์ตะวันตกได้เจริญก้าวหน้าไปมาก แต่ก็ไม่สามารถค้นพบสาเหตุที่แท้จริงของการปวดศีรษะแบบไมเกรนหรือคลัสเตอร์ได้ เพียงแค่สันนิษฐานว่า ไมเกรนหรือคลัสเตอร์อาจเกิดจากการบีบตัวหรือขยายตัวของหลอดเลือดในสมองมากกว่าปกติ จึงเป็นผลทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ส่วนสาเหตุการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัวนั้น ถึงแม้เมื่อก่อนมีทฤษฎีว่าเกิดจากอาการตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอและรอบศีรษะ แต่ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยเกี่ยวกับอาการปวดศีรษะ ต่างเชื่อกันว่าน่าจะมีสาเหตุเช่นเดียวกันกับการปวดศีรษะแบบไมเกรนและคลัสเตอร์
สาเหตุของการปวดศีรษะเรื้อรังในทัศนะการแพทย์จีน
ความรุ่มร้อนในตับลอยตัวขึ้นไปกระทบบนศีรษะ
ในตับและไตมีทั้งหยิน (ความเย็น) และหยาง (ความร้อน) ไตต้องส่งหยินในไตไปหล่อเลี้ยงตับ เพื่อไม่ให้ตับรุ่มร้อนเกินไป เมื่อไตอ่อนแอลง ไม่ว่าจะเกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น หรือพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกสุขลักษณะก็ตาม จะทำให้ไตไม่สามารถส่งหยินในไตไปหล่อเลี้ยงตับได้อย่างเพียงพอ หยางในตับจึงมากเกินไป ทำให้ความรุ่มร้อนในตับลอยตัวขึ้นไปกระทบที่ศีรษะ ส่วนอารมณ์ที่ตึงเครียด ตื่นเต้นหรือคิดมากเป็นประจำ ก็ทำให้เกิดหรือเพิ่มความรุนแรงของภาวะหยางในตับได้เช่นกัน ผู้ที่มีภาวะหยางในตับมากเกินไป มักจะมีอาการหลายอย่าง เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะเรื้อรัง หูอื้อ ตาลาย หน้าแดง ปากขม อารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ขี้หลงขี้ลืม อุจจาระแข็งหรือท้องผูก ลิ้นแดง ฝ้าบนลิ้นเหลือง แขนขาเหน็บชา ลิ้นแข็ง พูดอ้อแอ้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาวะหยางในตับมากเกินไป ยังทำให้ตับขาดความสมดุลและสร้างโคเลสเตอรอลมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงเกินไป ทั้งๆ ที่มีการควบคุมอาหารการกินหรือออกกำลังกายแล้วก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากโคเลสเตอรอลในร่างกาย 80% ขึ้นไปสร้างขึ้นมาจากตับ ภาวะเช่นนี้จะเร่งให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบมากขึ้น เพิ่มความรุนแรงของอาการปวดศีรษะแบบเรื้อรัง พร้อมทั้งเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตด้วย
ภาวะเลือดเหนียวหนืดและจับตัวเป็นก้อนจากพลังชี่พร่อง
ระบบการไหลเวียนของเลือดต้องอาศัยพลังชี่ (气) จากไตเป็นแรงผลักดัน เมื่อไตอ่อนแอลงพลังชี่ก็จะพร่องลงไปด้วย ทำให้พลังและเลือดไหลเวียนช้าลง ส่งผลให้เกิดการคั่งของพลังและเลือด เลือดจึงเหนียวหนืดและจับตัวเป็นก้อนไปกีดขวางทางเดินของเลือด ทำให้เส้นลมปราณและหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงศีรษะติดขัด จนเกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการวินิจฉัยและบำบัดอันสำคัญของการแพทย์จีน ปวดแสดงว่าไม่โล่ง โล่งแล้วก็จะไม่ปวด (通则不痛, 痛则不通) การติดขัดของเส้นลมปราณต่างๆ ที่หล่อเลี้ยงศีรษะ จะทำให้เกิดการปวดศีรษะที่ต่างกัน อาทิ
- หากเส้นลมปราณเส้าหยาง (少阳经络) มีการติดขัด ก็จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะแบบไมเกรน
- หากเส้นลมปราณหยางหมิน (阳明经络) มีการติดขัด ก็จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์
- หากเส้นลมปราณไท่หยาง (太阳经络) มีการติดขัด ก็จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะแบบกล้ามเนื้อตึงตัว
- หากเส้นลมปราณเจี๋ยยินหรือตูม่าย (厥阴经络或督脉经络) มีการติดขัด ก็จะทำให้เกิดอาการปวดบริเวณกลางศีรษะ
- หากเส้นลมปราณที่หล่อเลี้ยงศีรษะติดขัดพร้อมกันหลายเส้น ก็จะเกิดอาการปวดศีรษะในหลายๆ รูปแบบร่วมกัน
อัมพฤกษ์ อัมพาต ความเสี่ยงที่จะตามมา
ในทัศนะการแพทย์ตะวันตก ผู้ป่วยปวดศีรษะเรื้อรังจะมีความเสี่ยงต่ออัมพฤกษ์ อัมพาต สูงกว่าผู้ที่ไม่เป็น เนื่องจากอาการนำของปวดศีรษะเรื้อรังจะคล้ายคลึงกับอาการนำของอัมพฤกษ์ อัมพาต เช่น ตาพร่า ร่างกายซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรงและชา พูดอ้อแอ้ เป็นต้น และความเสี่ยงนี้จะเพิ่มสูงขึ้น หากมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ใช้ยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทนเป็นประจำ นอกจากนี้ ผู้ป่วยไมเกรนยังมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ที่ไม่เป็นสูงถึง 5 เท่า
สำหรับทัศนะการแพทย์จีน อาการปวดศีรษะเรื้อรังและอัมพฤกษ์ อัมพาตมาจากสาเหตุเดียวกัน เพียงแต่ต่างกันที่ระดับความรุนแรงเท่านั้น อาการปวดศีรษะเรื้อรังเปรียบเสมือนเป็นสัญญาณเตือน หากไม่มีการบำบัดอย่างทันท่วงที ก็อาจพัฒนาเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้เมื่ออายุเพิ่มขึ้น
วิธีการบำบัดแบบองค์รวมของการแพทย์จีน
การบำบัดอาการปวดศีรษะด้วยยาแก้ปวดคงไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย ทั้งนี้เนื่องจากยาแก้ปวดจะระงับอาการปวดศีรษะได้เพียงชั่วคราว และมิได้หยุดยั้งการลุกลามของโรค ที่สำคัญคือ พิษของยาจะก่อให้เกิดการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารไม่ย่อยและเลือดออกในกระเพาะอาหาร อีกทั้งยังอาจพัฒนากลายเป็นการปวดศีรษะแบบผสมด้วย ดังนั้น การบำบัดอาการปวดศีรษะของการแพทย์จีน จึงไม่ได้หยุดอยู่แค่แก้ปวดเป็นครั้งคราวเท่านั้น หากแต่ยังให้ความสำคัญในการขจัดต้นเหตุของปวดศีรษะเรื้อรัง จากการวิจัยและทดลองทางการแพทย์และเภสัชวิทยาในปัจจุบันพบว่า ยาสมุนไพรจีนที่อยู่ในรูปแบบของสารสกัดเป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เนื่องจากสามารถสกัดและควบคุมสารออกฤทธิ์ได้อย่างเข้มข้นและแม่นยำ โดยมีกลไกการออกฤทธิ์สำคัญดังนี้
- สลายเลือดคั่ง ลดแรงต้านทานและการแข็งตัวของหลอดเลือด เพิ่มความหยืดหยุ่นของหลอดเลือด เลือดจึงไหลเวียนได้สะดวก และไปหล่อเลี้ยงศีรษะได้มากขึ้น
- ทะลวงเส้นลมปราณ เส้าหยาง หยางหมิน ไท่หยาง เจี๋ยยินหรือตูม่าย ซึ่งเป็นเส้นลมปราณที่หล่อเลี้ยงศีรษะให้โล่งสะอาด จึงบรรเทาอาการปวดศีรษะเรื้อรังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- บำรุงไต เพื่อให้หยิน-หยางในไตเกิดความสมดุล ไตจึงสามารถส่งหยินในไตไปหล่อเลี้ยงตับได้อย่างเพียงพอ ขจัดปัญหาหยางในตับมากเกินไป ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของอาการปวดศีรษะแบบเรื้อรัง และเมื่อตับอยู่ในภาวะสมดุลก็จะมีการสร้างโคเลสเตอรอลในปริมาณที่เหมาะสม ลดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและตีบ
อาการปวดศีรษะเรื้อรังบำบัดไม่ยากหากเลือกใช้วิธีการบำบัดที่ต้นเหตุ ซึ่งจะหลีกเลี่ยงผลข้างเคียง การเห็นผลล่าช้า ปราศจากสารตกค้าง อาการต่าง ๆ ก็จะทุเลาลงหรืออาจหายไปในที่สุด