หน้าแรก  »  ข่าวสารกิจกรรม  »  เตรียมรับมือไข้หวัดใหญ่ และการใช้ “เหลียนฮัว ชิงเวิน” เป็นทางเลือกในร้านยา

เตรียมรับมือไข้หวัดใหญ่ และการใช้ “เหลียนฮัว ชิงเวิน” เป็นทางเลือกในร้านยา

วารสารสมาคมผู้ประกอบการร้านยารวมใจไทย ฉบับที่ 73 พ.ค. – ส.ค. 2567 ได้เผยแพร่บทความความรู้เกี่ยวกับเหลียนฮัว ชิงเวิน โดยมีเนื้อความดังต่อไปนี้

ไข้หวัดใหญ่ (influenza) เป็นโรคที่พบมีการระบาดเป็นฤดูกาล สำหรับประเทศไทยพบการระบาดเป็นระลอกเล็กได้ตลอดปี แต่พบได้มากขึ้นในช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาวโดยอุบัติการณ์สูงสุดในช่วงเดือนกันยายน จากรายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ (1 ม.ค. – 18 พ.ค. 2567) กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 133,775 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 206 รายต่อประชากรแสนคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กและเด็กเล็กที่มีความรุนแรงระดับปานกลาง ในขณะที่ผู้สูงอายุมีจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าแต่กลับมีความรุนแรงมาก อัตราป่วยตายจากโรคไข้หวัดใหญ่มีค่าประมาณ 0.006 ซึ่งอาจจะไม่ใช่โรคที่อัตราป่วยตายสูงนัก แต่ก็มีภาระโรคสูงมากเนื่องจากรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างชัดเจน ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง เพิ่มโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและการกำเริบของโรคประจำตัว และสิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาล การรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีจึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย สตรีตั้งครรภ์ และเด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี รวมไปถึงบุคลากรสาธารณสุข นอกจากนี้ยังต้องมีมาตรการป้องกันอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การสวมหน้ากากอนามัย และการล้างมือด้วยแอลกอฮอล์หรือสารชำระล้าง เป็นต้น

ทำความรู้จักไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเขื้อ Influenza Virus ปัจจุบันพบไวรัสไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ A, B, C และ D แต่เฉพาะสายพันธุ์ A, B และ C เท่านั้นที่ก่อโรคในมนุษย์

  • สายพันธุ์ A พบในช่วงฤดูระบาดได้บ่อยที่สุด ทำให้เกิดอาการป่วยได้หลายระดับตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง แบ่งย่อยตาม Antigenic Glycoprotein ที่ผิวนอก คือ Hemagglutinin (H) และ Neuraminidase (N) ได้เป็นหลายชนิด เช่น H1N1, H3N2, H5N1
  • สายพันธุ์ B พบก่อโรคในมนุษย์เท่านั้น ติตต่อได้อย่างรวดเร็วและก่ออันตรายรุนแรงได้เช่นเดียวกับสายพันธุ์ A แต่ส่วนใหญ่มักระบาดในวงจำกัดและพบอุบัติการณ์ที่น้อยกว่า
  • สายพันธุ์ C มักทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยระดับน้อยถึงปานกลางซึ่งอาจทำให้วินิจฉัยว่าเป็นโรคหวัดทั่วไป (Common Cold) และไม่พบว่าเป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ติดต่อได้ง่ายผ่านทางละอองลอย (Aerosols) ที่เกิดจากการไอจาม หรือการสัมผัสอนุภาคไวรัสที่ตกค้างบนผิวสัมผัสวัสดุต่างๆ การระบาดที่พบในแต่ละปีอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลง Antigenic Glycoprotein เพียงเส็กน้อยร่วมกับปัจจัยส่งเสริมอื่นๆ เช่น ความแออัด สุขอนามัย ฤดูกาลและสภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการติดเชื้อ ในขณะที่การระบาดใหญ่หรือที่เป็นที่สนใจมักเกิดจาก Genetic Shifting ส่งผลให้ Antigenic Glycoprotein เปลี่ยนแปลงไปได้เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ร่างกายมนุษย์ไม่คุ้ยเคย ดังเช่นการระบาดใหญ่ปี ค.ศ. 2009 ซึ่งพันธุกรรมมีลักษณะเป็นผลรวมของเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในนก หมู และมนุษย์

อาการทางคลินิกของโรคไข้หวัดใหญ่มักเริ่มสังเกตได้หลังได้รับเชื้อ 18-72 ชั่วโมง เริ่มจากมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ ร่วมกับอาการผิดปกติของทางเดินหายใจเช่นเดียวกับที่พบในโรคหวัด ได้แก่ เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก คัดแน่นจมูก และเยื่อบุตาแดงอักเสบ อาการเหล่านี้มักเป็นอยู่อย่างน้อย 7 วัน แต่อาการอ่อนเพลียและไออาจเป็นนานหลายสัปดาห์ ในผู้ป่วยเด็กอาจพบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และหูขั้นกลางอักเสบ

ปอดอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อนสำคัญของโรคไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ ระยะต้นมักเป็นการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เอง (Viral Pneumonia) และตามมาด้วยการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Pneumonia) หรืออาจเกิดจากทั้งไวรัสและแบคทีเรียพร้อมๆ กัน อาการที่บ่งชี้ภาวะปอดอักเสบซึ่งเภสัชกรในร้านยาสามารถประเมินเบื้องต้นได้ เช่น หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ ไอรุนแรง มีเสมหะ และระดับออกซิเจนในเลือดต่ำเมื่อวัดจาก Pulse Oximeter ภาวะแทรกซ้อนนอกปอด ได้แก่ โพรงไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ Myoglo-Binuria กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ Guillain-Barré Syndrome และ Reye’s Syndrome

ร้านยาสามารถประเมินโรคไข้หวัดใหญ่ได้จากการสัมภาษณ์ประวัติอาการ พิจารณาควบคู่ไปกับข้อมูลทางระบาดวิทยา เช่น สถานการณ์การระบาดของโรคนี้ในพื้นที่ ปัจจุบันมีชุดตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ด้วยตนเอง มีวิธีการใช้เช่นเดียวกับชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) โรคโควิด-19 ที่เภสัชกรและประชาชนทั่วไปคุ้นเคยกันดี ซึ่งสามารถใช้ประกอบร่วมด้วยเพื่อให้การประเมินโรคมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

คำแนะนำการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ พ.ศ. 2566 (ฉบับปรับปรุง 2 ตุลาคม 2566) แนะนำให้ใช้ Oseltamivir เป็นยาต้านไวรัสลำดับแรก และ Favipiravir เป็นยาต้านไวรัสอันดับรองเฉพาะในกรณีที่ไม่สามารถใช้ยาอันดับแรกได้และอาการไม่รุนแรงเท่านั้น การใช้ยาต้านไวรัสแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ อาจจะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงได้หากมีอาการไม่เกิน 48 ชั่วโมง แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน การใช้ยาต้านไวรัสในผู้ที่อาการไม่รุนแรงช่วยให้อาการหายเร็วขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงอาจไม่คุ้มค่าและเพิ่มโอกาสเกิดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ดื้อยาโดยไม่จำเป็น

ในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่อาการไม่รุนแรงและไม่ใช่ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสามารถให้การรักษาตามอาการ (Symptomatic Treatments) ได้เช่นเดียวกับกรณีโรคหวัดทั่วไป นอกจากนี้ควรเน้นย้ำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อลดโอกาสเกิดภาวะขาดน้ำที่เกิดเนื่องจากไข้ ในบริบทของร้านยาซึ่งมีทางเลือกเพียงการรักษาตามอาการซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยมีความรุนแรงของอาการลดลง แต่ไม่ช่วยให้หายจากอาการเจ็บป่วยได้เร็วขึ้น และไม่สามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ร่วมกับข้อจำกัดในการจ่ายยาต้านไวรัส ตำรับยา “เหลียนฮัว ชิงเวิน” จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

ทำความรู้จักเหลียนฮัว ชิงเวิน

เหลียนฮัว ชิงเวิน เป็นสูตรตำรับยาสมุนไพรตามศาสตร์แพทย์แผนจีนที่ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจมาอย่างยาวนาน และได้รับการบรรจุอยู่ในเภสัชตำรับของประเทศจีน (Chinese Pharmacopoeia) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เพื่อใช้สำหรับรักษาไข้หวัดใหญ่ เหลียนฮัว ชิงเวิน ประกอบด้วยสารสกัดจากสมุนไพร 13 ชนิด สมุนไพรแต่ละชนิดมีสรรพคุณในการรักษาความผิดปกติของระบบหายใจที่ส่งเสริมการออกฤทธิ์ของกันและกัน เช่น สายน้ำผึ้ง (Lonicera Japonica) เป็นยาเย็นใช้ขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอ เหลียนเชี่ยวหรือเหลี่ยงเคี้ยว (Lianqiao; Forsythia Suspensa) และฉือเกาหรือเจียะกอ (Shigao; Gypsum Fibrosum) มีสรรพคุณระบายความร้อน แก้หวัดที่เกิดจากการกระทบกับลมร้อน ชะเอมจีน (Gancao; Glycyrrhiza Uralensis) มีรสหวานชุ่มคอ ระบายความร้อน บำรุงหัวใจ แก้เสมหะเป็นพิษและแก้ไอ

สารพฤกษเคมีสำคัญที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบในตำรับเหลียนฮัว ชิงเวิน มีอย่างน้อย 61 รายการ การศึกษาด้านเภสัชวิทยาพบว่าเหลียนฮัว ชิงเวิน ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้จากการยับยั้งการเข้าเซลล์ของโฮสต์ (Entry Inhibition) ยับยั้งการเพิ่มจำนวนภายในเซลล์โฮสต์ (Replication Inhibition) และการทำลายไวรัสโดยตรง นอกจากนี้พบว่าเหลียนฮัว ชิงเวิน ยับยั้งกระบวนการอักเสบและการเกิดพยาธิสภาพของทางเดินหายใจ ลดความรุนแรงของโรค และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

การศึกษาในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ (A H1N1) จำนวน 244 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับยาเหลียนฮัว ชิงเวิน อีกกลุ่มได้รับยา Oseltamivir เป็นเวลา 5 วัน พบว่ากลุ่มที่ได้รับเหลียนฮัว ชิงเวิน มีความรุนแรงของอาการป่วยน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยา Oseltamivir และหายจากอาการป่วยได้รวดเร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (ระยะเวลาป่วยกลุ่มเหลียนฮัว ชิงเวิน 69 ชั่วโมง Oseltamivir 85 ชั่วโมง) ผลการวิจัยข้างต้นนี้สอดคล้องกับการทบทวนวรรณกรรมเชิงระบบและวิเคราะห์อภิมาน ซึ่งรวบรวมข้อมูล 10 รายงานการวิจัยในผู้ป่วยรวม 1,525 คน สรุปผลได้ว่าเหลียนฮัว ชิงเวิน มีประสิทธิผลเหนือกว่า Oseltamivir ในการบรรเทาอาการจากไข้หวัดใหญ่ การวิเคราะห์อภิมานประเมินประสิทธิผลของเหลียนฮัว ชิงเวิน ร่วมกับการรักษามาตรฐานในการรักษาไข้หวัดใหญ่ เปรียบเทียบกับการได้รับเฉพาะการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยรวม 3,592 คน พบว่าการใช้เหลียนฮัว ชิงเวิน ร่วมกับการรักษามาตรฐานช่วยลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล และลดระยะเวลาที่มีอาการเจ็บป่วยได้ดีกว่าการได้รับเฉพาะการรักษามาตรฐาน การศึกษาในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ A H1N1 พบว่าผู้ที่ได้รับเหลียนฮัว ชิงเวิน โดยเร็วที่สุดหลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยมีอัตราการป่วยต่ำกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญโดยมีประสิทธิผลในการป้องกันได้มากถึงร้อยละ 87.5-88.3

เหลียนฮัว ชิงเวิน มีอัตราการเกิดอาการข้างเคียงในระดับน้อยมาก คือน้อยกว่ายาแผนปัจจุบันที่ใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ H1N1 โดยมีอุบัติการณ์ต่างกันประมาณ 4 เท่า (RR 0.21, 95% CI [0.13, 0.36], p<0.001) อาการข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่ได้รับเหลียนฮัว ชิงเวิน คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไม่สบายท้อง เบื่ออาหาร ท้องเสีย การเปลี่ยนแปลงของระดับเอนไซม์ตับ ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงซึม การแพ้และผื่นคัน ทั้งนี้ อาการข้างเคียงที่พบมีความรุนแรงน้อยและหายได้เองเมื่อหยุดใช้เหลียนฮัว ชิงเวิน

การใช้เหลียนฮัว ชิงเวิน สำหรับรักษาไข้หวัดใหญ่ในร้านยา

ผลการศึกษาดังยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้แสดงให้เห็นว่าเหลียนฮัว ชิงเวิน สามารถใช้รักษาและป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้เป็นอย่างดี โดยอาจใช้เป็นยาเดี่ยว หรือจ่ายร่วมกับการรักษาอื่นๆ เช่น ยาลดไข้แก้ปวด Paracetamol, NSAIDs ยาละลายเสมหะ และยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ Oseltamivir ได้อย่างปลอดภัย แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้เหลียนฮัว ชิงเวิน ร่วมกับ Nirmatrelvir/Ritonavir และ Remdesivir เพราะอาจเกิดอันตรกิริยาทางเภสัชจลนศาสตร์ต่อกันได้

เหลียนฮัว ชิงเวิน แต่ละแคปซูลประกอบด้วยสารสกัดของตัวยาสำคัญ 0.35 กรัม คำแนะนำการใช้ตามข้อบ่งใช้ของประเทศไทยในผู้ใหญ่คือรับประทานครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 5-7 วัน ในขณะที่การใช้รักษาโรคโควิด-19 ในประเทศจีนนั้นแนะนำให้ใช้เป็นเวลา 7-10 วัน อย่างไรก็ตาม การศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยโรคโควิด-19 บางการศึกษามีการใช้ยานี้ต่อเนื่องได้นานถึง 14 วัน

ในประเทศไทย สมุนไพรตำรับเหลียนฮัว ชิงเวิน รูปแบบแคปซูล ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรประเภทยาพัฒนาจากสมุนไพร ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563 โดยมีข้อบ่งใช้สำหรับ 1) ใช้บรรเทาอาการจากไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย น้ำมูก ไอ เจ็บคอ ปวดหัว และ 2) ตามความรู้การแพทย์แผนจีน ใช้ช่วยขจัดพิษ ลดไข้ บรรเทาอาการหวัด ได้แก่ ไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย คัดจมูก ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ในขณะที่ในประเทศจีนมีข้อบ่งใช้ที่กว้างกว่าโดยครอบคลุมถึงการรักษาโรคโควิด-19 ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Curr Opin Pulm Med 2022;28(3):199-204. DOI: 10.1097/mcp.0000000000000860.
  2. Pharmacol Res 2023;196:106919. DOI: 10.1016/j.phrs.2023.106919.
  3. Scientific World J 2015;2015:731765. DOI: 10.1155/2015/731765.
  4. Trad Chinese Drug Res Clin Pharmacol 1993;6.
  5. Biomed Pharmacother 2020;130:110641. DOI: 10.1016/j.biopha.2020.110641.
  6. Front Pharmacol 2020;11:746. DOI: 10.3389/fphar.2020.00746.
  7. Chin Med J 2011;124(18):2925-33.
  8. Zhongguo Zhong Yao Za Zhi 2017;42(8):1474-1481.
  9. Medicine (Baltimore) 2024;103(3):e36986. DOI: 10.1097/md.0000000000036986.
  10. Mod Prev Med 2010;37(17):3349-50.
  11. Front Pharmacol 2022;13:764774. DOI: 10.3389/fphar.2022.764774.
  12. Biomed Pharmacother 2021;142:111998. DOI: 10.1016/j.biopha.2021.111998.
  13. Phytomedicine 2021;85:153242. DOI: 10.1016/j.phymed.2020.153242.
  14. Pharmacol Res – Mod Chinese Med 2022;3:100092.
  15. Virol J 2023;20(1):277. DOI: 10.1186/s12985-023-02144-6.
  16. Ann Palliat Med 2022;11(1):378-383. DOI: 10.21037/apm-21-2613.
  17. Acta Pharm Sin B 2023;13(9):3598-637. DOI: 10.1016/j.apsb.2023.06.001.
ปรึกษาแพทย์จีน
ปรึกษาแพทย์จีน
Scroll to Top