ภาวะซีดถือเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งหากปล่อยไว้ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ทางที่ดี ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้สูงอายุจึงควรใส่ใจเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ รวมถึงวิธีดูแลพยาบาลเอาไว้ เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม
ภาวะซีดคืออะไร มีอาการอย่างไร
ภาวะซีด หรือเรียกอีกอย่างว่าภาวะเลือดจาง คือภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงที่มีความสมบูรณ์ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ผิวซีด เล็บซีด เวียนหัว ปวดหัว หงุดหงิดง่าย ขี้หนาว มือเท้าเย็น ชามือชาเท้า ใจสั่น ฯลฯ
ข้อมูลสถิติภาวะซีดในผู้สูงอายุ
อ้างอิงจากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 6 เมื่อปี 2019-2020 ภาวะซีดจะพบได้มากขึ้นตามวัย โดยจะมีรายละเอียดในผู้สูงอายุดังนี้
- ประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี จะมีภาวะซีด
- ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่มีอายุ 70-79 ปี จะมีภาวะซีด
- ประมาณ 1 ใน 2 ของผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป จะมีภาวะซีด
ภาวะซีดในผู้สูงอายุเกิดจากอะไร
สำหรับสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะซีดก็ได้แก่
- ขาดธาตุเหล็ก การขาดธาตุเหล็กเป็นสาเหตุของภาวะซีดที่พบได้บ่อยในทุกช่วงวัย แต่จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุหลายคนจะมีปัญหากินน้อย มีการย่อยและการดูดซึมที่แย่ลง หรือมีเลือดออกภายในร่างกายจากโรคและความผิดปกติต่างๆ ทำให้เกิดการสูญเสียธาตุเหล็ก
- ขาดวิตามินบางชนิด โฟเลตและวิตามินบี 12 จะเป็นวิตามินที่มีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง ผู้สูงอายุที่มีปัญหากินน้อยหรือมีปัญหาการย่อยและการดูดซึม ก็จะเสี่ยงขาดวิตามินเหล่านี้จนอาจเกิดภาวะซีดได้
- โรคบางชนิด โรคบางชนิด เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคตับ โรคมะเร็งบางประเภท โรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้อักเสบ ฯลฯ จะทำให้เสี่ยงเกิดภาวะซีดมากขึ้น ผู้สูงอายุซึ่งมีโอกาสเกิดโรคเหล่านี้มากกว่าช่วงวัยอื่น จึงมีความเสี่ยงต่อภาวะซีดเพิ่มขึ้น
- มีเลือดออก ผู้สูงอายุจะเกิดเลือดออกภายในร่างกายได้ง่ายขึ้น โดยอาจเกิดจากโรคบางชนิด การใช้ยาบางกลุ่ม อุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดการกระทบกระแทก ฯลฯ การมีเลือดออกภายในร่างกายจะทำให้สูญเสียเม็ดเลือดแดงและธาตุเหล็กโดยไม่รู้ตัวจนอาจเกิดภาวะซีดได้
- ยาบางชนิด ยาบางชนิดจะทำให้เสี่ยงเกิดภาวะซีดมากขึ้นผ่านกลไกต่างๆ เช่น รบกวนการสร้างเม็ดเลือดแดง รบกวนการดูดซึมธาตุเหล็กหรือวิตามินอื่นๆ เป็นต้น ผู้สูงอายุซึ่งมักจะมีโรคประจำตัวและมีการใช้ยามากกว่าคนในช่วงวัยอื่น จึงมีโอกาสเกิดภาวะซีดมากขึ้นตามไปด้วย
- ความเสื่อมตามวัย ร่างกายของผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่มีผลกระทบต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น เซลล์ไขกระดูกและไตเสื่อมลง ด้วยเหตุนี้ แม้ในผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้มีโรคหรืออาการผิดปกติแสดงออกมาชัดเจน ก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะซีดมากกว่าคนวัยอื่นๆ (ไขกระดูกจะมีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดงโดยตรง ส่วนไตจะมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง)
อันตรายของภาวะซีดในผู้สูงอายุ
งานวิจัยปัจจุบันได้พบอันตรายของภาวะซีดที่มีต่อผู้สูงอายุหลายประการ ซึ่งก็จะประกอบไปด้วย
- มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ข้อมูลงานวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุที่มีภาวะซีดจะมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น และมีระยะเวลาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่นานกว่า เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุทั่วไป
- ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ลดลง ภาวะซีดจะก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เวียนหัว ปวดหัว หายใจไม่เต็มอิ่ม ฯลฯ จึงส่งผลให้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ลดลง ซึ่งในระยะยาวก็จะมีผลกระทบต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและสมรรถภาพทางกายในด้านต่างๆ
- เสี่ยงหกล้มเพิ่มขึ้น ข้อมูลงานวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุที่มีภาวะซีดจะมีโอกาสหกล้มเพิ่มขึ้น การหกล้มในผู้สูงอายุจะเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจทำให้กระดูกหักและเกิดเป็นความพิการหรือเสียชีวิตได้
- เสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ภาวะซีดจะทำให้หัวใจต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยปริมาณออกซิเจนในเลือดที่ลดลง ในระยะยาวจึงส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น
- เสี่ยงเกิดโรคทางสมองและระบบประสาทเพิ่มขึ้น สมองเป็นอวัยวะที่ต้องการออกซิเจนมาก การได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอนานๆ จึงมีผลทำให้เสื่อมเร็วกว่าปกติ
วิธีดูแลพยาบาลภาวะซีดในผู้สูงอายุ
การดูแลพยาบาลผู้สูงอายุที่มีภาวะซีดจะสามารถทำได้ดังนี้
- ปฏิบัติตามแนวทางการรักษาอย่างเคร่งครัด ภาวะซีดยิ่งปล่อยไว้นานก็ยิ่งมีผลเสียต่อสุขภาพ การใส่ใจเข้ารับการรักษาภายใต้การกำกับดูแลโดยแพทย์ จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ
- ดูแลอาหารการกินให้ครบถ้วน ผู้สูงอายุที่มีภาวะซีด โดยเฉพาะที่เกิดจากการขาดสารอาหาร ควรได้รับการดูแลให้ได้รับธาตุเหล็ก โฟเลต วิตามินบี 12 รวมถึงพลังงานและสารอาหารจำเป็นอื่นๆ อย่างเพียงพอ
- หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ ผู้ดูแลพยาบาลผู้สูงอายุที่มีภาวะซีดควรหมั่นใส่ใจสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที
- หมั่นตรวจสุขภาพและพบแพทย์ตามนัด ผู้ป่วยภาวะซีดควรหมั่นตรวจสุขภาพและพบแพทย์ตามนัด เพื่อให้สามารถประเมินผลและปรับเปลี่ยนการรักษาได้อย่างเหมาะสม
จบแล้วกับประเด็นคำถามที่ว่า ภาวะซีดในผู้สูงอายุเกิดจากอะไร มีวิธีดูแลพยาบาลอย่างไร รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางเอินเวย์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ
เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์จีน เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดี