คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะโลหิตจางมากถึง 16.2% อ้างอิงจากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 6 เมื่อปี 2019-2020
จากข้อมูลดังกล่าว ภาวะโลหิตจางจึงนับได้ว่าเป็นภัยใกล้ตัวมากกว่าที่หลายคนคิด การใส่ใจเรียนรู้ข้อมูลเพื่อให้สามารถเฝ้าระวังและรับมือได้อย่างเหมาะสมจึงนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทางเอินเวย์ ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จีนสมัยใหม่ ก็ขออาสานำข้อมูลมาให้ชมกันแบบง่ายๆ เองค่ะ
ภาวะโลหิตจางคืออะไร มีกี่ชนิด
ภาวะโลหิตจาง (Anemia) หรือที่หลายคนนิยมเรียกกันว่าภาวะซีด คือภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงที่มีความสมบูรณ์ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะแบ่งได้คร่าวๆ เป็น 3 ชนิด ได้แก่
- ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากร่างกายขาดสารอาหารจำเป็นสำหรับการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น ธาตุเหล็ก โฟเลต และวิตามินบี 12
- ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว ฯลฯ
- ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากปัจจัยอื่นๆ เช่น เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย อันเกิดจากสารพิษ ยาบางชนิด หรือโรคบางอย่าง ไขกระดูกฝ่อหรือทำงานผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดงได้ ฯลฯ
เมื่อเทียบกันแล้ว ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็กจะพบได้บ่อยที่สุด โดยจะพบได้ในผู้หญิงมากเป็นพิเศษ (ผู้หญิงจะมีการสูญเสียเลือดทางประจำเดือน ทำให้ร่างกายต้องได้รับธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยที่เสียไป) ซึ่งข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่เผยแพร่เมื่อปี 2023 ก็ได้ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กถึง 37%
อาการของภาวะโลหิตจาง
อาการของภาวะโลหิตจางอาจประกอบไปด้วย
- อ่อนเพลีย
- เหนื่อยง่าย
- ปวดหัว
- เวียนหัว
- ขาดสมาธิ
- หงุดหงิดง่าย
- เบื่ออาหาร
- ชามือชาเท้า
- มือเท้าเย็น
- ผิวซีด
- เล็บซีด
- เล็บเปราะ
- หายใจไม่เต็มอิ่ม
ภาวะโลหิตจางมีสาเหตุเกิดจากอะไร
ภาวะโลหิตจางเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยจะแบ่งเป็นหมวดหมู่ได้คร่าวๆ ดังนี้
ร่างกายขาดสารอาหารจำเป็น
- ขาดธาตุเหล็ก ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนภายในเม็ดเลือดแดงที่มีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจน การขาดธาตุเหล็กจึงส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดงได้อย่างเพียงพอ
- ขาดโฟเลต โฟเลตเป็นสารอาหารจำพวกวิตามินที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งหากได้รับไม่เพียงพอก็จะทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยลง ทั้งยังมีผลทำให้เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ขึ้นและทำงานผิดปกติ
- ขาดวิตามินบี 12 วิตามินบี 12 เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งหากได้รับไม่เพียงพอก็จะทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยลง ทั้งยังมีผลทำให้เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ขึ้นและทำงานผิดปกติ เช่นเดียวกับการขาดโฟเลต
- โรคในระบบทางเดินอาหารบางชนิด โรคในระบบทางเดินอาหารบางโรคอาจส่งผลรบกวนการดูดซึมธาตุเหล็ก โฟเลต หรือวิตามินบี 12 เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคโครห์น ฯลฯ ในระยะยาวจึงอาจส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหารจำเป็นเหล่านี้และเกิดภาวะโลหิตจางได้
โรคทางพันธุกรรม
- โรคธาลัสซีเมีย โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากร่างกายสร้างฮีโมโกลบินได้น้อย ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้น เปราะแตกง่าย ซึ่งหากมีอาการแสดงชัดเจนก็มักจะรักษาด้วยการให้เลือดและยาขับธาตุเหล็ก
- โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียวเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากการสร้างฮีโมโกลบินที่ผิดปกติ ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีรูปร่างคล้ายเคียว มีลักษณะแข็งและเหนียว ทั้งยังมีอายุสั้นและเปราะแตกง่าย
สาเหตุอื่นๆ
- ไขกระดูกฝ่อหรือทำงานผิดปกติ เม็ดเลือดแดงในร่างกายจะถูกสร้างโดยไขกระดูก การที่ไขกระดูกมีความผิดปกติจึงอาจส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางได้
- เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย อาจเกิดจากสารพิษ ยาบางชนิด โรคติดเชื้อบางโรค โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคมะเร็งบางชนิด ม้ามซึ่งมีหน้าที่กำจัดเม็ดเลือดแดงมีการทำงานมากผิดปกติ ฯลฯ
- โรคไตเรื้อรัง โรคไตเรื้อรังจะส่งผลให้ไตผลิตฮอร์โมน Erythropoietin ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยลง จึงอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้
ภาวะโลหิตจางอันตรายไหม
ภาวะโลหิตจางนอกจากจะส่งผลกระทบต่อการเรียน การงาน และคุณภาพชีวิตโดยรวมแล้ว ในระยะยาวก็ยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้อีกด้วย เนื่องจากหัวใจจะต้องทำงานหนักขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อพยายามชดเชยปริมาณออกซิเจนในเลือดที่น้อยลง เมื่อนานไปจึงอาจเกิดภาวะหัวใจโตหรือหัวใจล้มเหลวได้
นอกจากนี้แล้ว ในผู้ที่ตั้งครรภ์ ภาวะโลหิตจางก็ยังอาจก่อให้ความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ได้อีกด้วย การใส่ใจป้องกันและรักษาภาวะโลหิตจางในผู้ที่ตั้งครรภ์จึงนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
วิธีป้องกันภาวะโลหิตจาง
สำหรับภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการขาดสารอาหาร การป้องกันก็จะสามารถทำได้ด้วยการได้รับสารอาหารเหล่านี้อย่างเพียงพอ
- ธาตุเหล็ก พบมากในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผักโขม คะน้า ตำลึง ฯลฯ โดยธาตุเหล็กในเนื้อสัตว์จะถูกดูดซึมได้ดีกว่าธาตุเหล็กจากพืช
- โฟเลต พบมากในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วลิสง คะน้า กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ กล้วย มะม่วง ฝรั่ง ฯลฯ
- วิตามินบี 12 พบมากในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่ นม และอาหารอื่นที่มีการเสริมวิตามินบี 12
- วิตามินซี เนื่องจากวิตามินซีจะมีส่วนช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น โดยเฉพาะธาตุเหล็กที่อยู่ในอาหารจำพวกพืช ตัวอย่างอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินซีก็อย่างเช่น ส้ม ฝรั่ง กีวี สตรอเบอร์รี่ มะเขือเทศ บร็อคโคลี่ ฯลฯ
วิธีรักษาภาวะโลหิตจาง
การรักษาภาวะโลหิตจาง แพทย์จะพิจารณาจากสาเหตุและความรุนแรง เพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างตรงจุดและปลอดภัย ซึ่งก็จะอาศัยการตรวจวินิจฉัยจากผลเลือดและผลตรวจร่างกายเป็นหลัก
ยาบำรุงเลือดในทางการแพทย์จีน
ในทัศนะการแพทย์จีน เลือดและพลังชี่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดต่อกัน ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับเลือด เช่น ภาวะเลือดพร่อง เลือดน้อย เลือดจาง จึงควรได้รับการดูแลควบคู่ไปกับพลังชี่ ซึ่งก็จะสามารถทำได้ด้วยการใช้ตำรับยาสมุนไพรจีนธรรมชาติที่มีโสมคนและอือเจียวเป็นส่วนประกอบสำคัญ
ด้วยหลักการที่เน้นดูแลปัจจัยพื้นฐานและบำบัดร่างกายแบบองค์รวม ตำรับยาสมุนไพรจีนบำรุงเลือดและพลังชี่ดังกล่าวนอกจากจะช่วยบำบัดภาวะโลหิตจางได้อย่างยั่งยืนแล้ว จึงยังสามารถก่อให้ผลดีต่อร่างกายในด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ชะลอความชรา บำรุงผิวพรรณและเส้นผม บำรุงสมอง ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น เป็นต้น
ผู้ที่สนใจดูแลบำรุงเลือดและพลังชี่ หรือสอบถามเรื่องการดูแลสุขภาพตามทัศนะการแพทย์จีน ก็สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์จีนและผู้เชี่ยวชาญจากเอินเวย์ได้ที่ไอดีไลน์ @enwei
จบแล้วกับข้อมูลภาวะโลหิตจาง ทั้งอาการ สาเหตุ วิธีป้องกัน วิธีรักษา พร้อมด้วยข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางเอินเวย์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ
เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์จีน เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดี