โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 ของไทย รองลงมาจากโรคหัวใจขาดเลือด อ้างอิงจากข้อมูลเมื่อปี 2019 โดยองค์การอนามัยโลก ทั้งยังเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของความพิการที่เกิดขึ้นกับคนไทยอีกด้วย
จากข้อมูลดังกล่าวนี้ การดูแลควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับการใส่ใจสำหรับทุกคน โดยทางเอินเวย์ ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์สมุนไพรจีนสมัยใหม่ ก็ได้นำข้อมูลแนวทางมาให้ชมกันในบทความนี้แล้วค่ะ
90% ของโรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้
งานวิจัยเมื่อปี 2016 ได้เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเทียบกับกลุ่มควบคุมใน 32 ประเทศ แล้วพบว่าประมาณ 90% ของโรคหลอดเลือดสมองจะเกิดจาก 10 ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งก็นับเป็นทั้งข่าวดีและเป็นทั้งเรื่องที่น่าเสียดายในคราวเดียวกัน
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองมีอะไรบ้าง
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2021 โดยใช้ข้อมูลจาก 204 ประเทศและเขตแดนทั่วโลก ก็ได้พบปัจจัยเสี่ยง 10 อันดับแรกของโรคหลอดเลือดสมอง เรียงตามลำดับผลกระทบจากมากไปน้อยดังนี้
(ผลกระทบดังกล่าวนี้ จะคิดจากปีสุขภาวะที่สูญเสียจากโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากแต่ละปัจจัยเสี่ยง โดยจะได้มาจากสูตรคำนวณ ปีที่สูญเสียจากการเสียชีวิตก่อนวัย + ปีที่สูญเสียจากความเจ็บป่วยหรือพิการ)
- ความดันตัวหน้าสูง การมีความดันโลหิตตัวหน้า (Systolic Blood Pressure) สูงเกินเกณฑ์ จะถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองที่มีผลกระทบมากที่สุด เนื่องด้วยผลในการทำร้ายหลอดเลือดโดยตรง ประกอบกับจำนวนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มีปริมาณมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แสดงออกมา จึงมักจะไม่รู้ตัวหรือไม่เข้มงวดกับการรักษาเท่าที่ควร
- พฤติกรรมการกินที่ไม่ดี อย่างเช่น การได้รับโซเดียม ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และน้ำตาลเกิน รวมถึงการได้รับผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่เพียงพอ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองที่มีผลกระทบมากรองลงมาจากความดัน
- BMI สูง การมี BMI หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่าค่าดัชนีมวลกายสูงเกินเกณฑ์ (คิดจากการหารน้ำหนักตัวในหน่วยกิโลกรัมด้วยส่วนสูงในหน่วยเมตร 2 ครั้ง) จะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการมีน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งก็จะเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองที่มีผลกระทบมากเป็นอันดับต้นๆ
- น้ำตาลในเลือดสูง ข้อมูลงานวิจัยพบว่า การมีน้ำตาลในเลือดที่ตรวจขณะอดอาหารสูงเกินเกณฑ์ (เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงโรคเบาหวาน) ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง
- ฝุ่น PM2.5 มลพิษทางอากาศอย่างฝุ่น PM2.5 ที่มักจะถูกมองข้ามโดยหลายๆ คน ก็มีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเช่นกัน ผ่านกลไกการก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ การอักเสบ และความเสียหายแก่หลอดเลือด
- การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่จะทำให้เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น เนื่องจากสารพิษจากควันบุหรี่จะส่งผลกระทบต่อทั้งความดัน ไขมันในเลือด การเต้นของหัวใจ การแข็งตัวของเลือด ทั้งยังส่งผลทำร้ายหลอดเลือดโดยตรงอีกด้วย
- คอเลสเตอรอลชนิด LDL สูง การมีคอเลสเตอรอลชนิด LDL หรือที่หลายคนนิยมเรียกว่าไขมันเลวในเลือดสูง ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง
- ไตเสื่อม ข้อมูลงานวิจัยปัจจุบันพบว่า ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังจะมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นหลายเท่า ซึ่งก็คาดว่าอาจเกิดจากการอักเสบที่เพิ่มมากขึ้น ความสามารถในการกำจัดสารพิษบางชนิดที่ลดลง สมดุลแคลเซียมและแร่ธาตุอื่นๆ ที่เปลี่ยนไป ฯลฯ
- แอลกอฮอล์เกิน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินควร ซึ่งก็คือมากกว่า 2 ดื่มมาตรฐานต่อวันสำหรับผู้ชาย และมากกว่า 1 ดื่มมาตรฐานต่อวันสำหรับผู้หญิง ก็จะมีผลทำให้เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น
- การขาดกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกายจะมีผลช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง ฯลฯ ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองทั้งสิ้น
(หลายๆ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จะมีความเกี่ยวข้องต่อกัน อย่างเช่น การได้รับโซเดียมเกินจะมีส่วนทำให้ความดันสูง การขาดกิจกรรมทางกายจะมีส่วนทำให้ BMI สูง เป็นต้น)
ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดสมองก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ นอกจากปัจจัยเหล่านี้อีกด้วย อย่างเช่น โรคซึมเศร้า โรคเครียด ภาวะหัวใจห้องบนเต้นรัว (Atrial Fibrillation) ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง การมีเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ การใช้ยาเสพติดบางชนิด ฯลฯ รวมไปถึงปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ อย่างเช่น วัยสูงอายุ การมีญาติสายตรงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
จากข้อมูลปัจจัยเสี่ยงข้างต้น การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองจึงสามารถทำได้ดังนี้
- ดูแลความดันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หมั่นตรวจวัดความดันโลหิตและใส่ใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีผลต่อความดันให้เหมาะสม อย่างเช่น จำกัดโซเดียมในอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่ จัดการความเครียด ฯลฯ
- ดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม จำกัดพลังงานที่ได้รับจากอาหาร เน้นกินอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ดูแลน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรใส่ใจดูแลอาหารการกิน หมั่นออกกำลังกายตามความเหมาะสม และใช้ยาตามที่แพทย์จ่ายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูง
- ดูแลไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หมั่นตรวจไขมันในเลือดและใส่ใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีผลต่อไขมันในเลือดให้เหมาะสม อย่างเช่น จำกัดไขมันอิ่มตัว เลี่ยงไขมันทรานส์ จำกัดน้ำตาล จำกัดแอลกอฮอล์ กินผักผลไม้มากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ ฯลฯ
- ดูแลสุขภาพไต ดูแลความดันและน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินเกณฑ์ เพราะจะมีผลเสียต่อไต รวมทั้งควรงดสูบบุหรี่และเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลเสียต่อไตโดยไม่จำเป็น
- ดูแลสุขภาพจิต มีงานวิจัยพบว่าโรคซึมเศร้าและความเครียดเรื้อรังอาจมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองที่เพิ่มขึ้น การหมั่นดูแลสุขภาพจิตของตนเองและปรึกษาจิตแพทย์เมื่อเหมาะสม จึงมีความสำคัญต่อการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้เหมาะสม จำกัดไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ น้ำตาล และโซเดียม หันมากินผักผลไม้ ข้าวแป้งขัดสีน้อย ถั่ว ธัญพืช และปลามากขึ้น
- จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ ไม่ให้เกิน 2 ดื่มมาตรฐานต่อวันสำหรับผู้ชาย และไม่ให้เกิน 1 ดื่มมาตรฐานต่อวันสำหรับผู้หญิง (1 ดื่มมาตรฐานจะมีแอลกอฮอล์ 14 กรัม ซึ่งคร่าวๆ แล้ว จะเทียบได้เป็นเหล้า 44 มิลลิลิตร ไวน์ 148 มิลลิลิตร หรือเบียร์ 355 มิลลิลิตร)
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีการประมาณการไว้ว่า การออกกำลังกายเพียงครั้งละ 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 25%
- งดสูบบุหรี่ สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ การเลิกบุหรี่ก็เป็นอีกข้อแนะนำที่สำคัญสำหรับการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
- ปกป้องตนเองจากฝุ่น PM2.5 ใส่หน้ากากป้องกันเมื่อต้องอยู่ในบริเวณที่มีฝุ่น PM2.5 สูง หากอยู่ในอาคารก็อาจพิจารณาปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิดร่วมกับใช้เครื่องฟอกอากาศ
- เลี่ยงการใช้ยาเสพติด ยาเสพติดหลายชนิดจะมีผลเสียต่อความดันและสุขภาพจิต ซึ่งต่างก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
- ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาสุขภาพและสามารถดูแลแก้ไขได้แต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพที่มักจะไม่แสดงอาการ อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง ฯลฯ
โรคหลอดเลือดสมอง เคยเป็นแล้วก็เป็นซ้ำได้อีก
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเมื่อรักษาจนดีขึ้นแล้ว ก็จะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำค่อนข้างสูง การใส่ใจดูแลควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในจุดนี้ แพทย์ก็อาจพิจารณาให้ใช้ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดร่วมด้วย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้น้อยลงยิ่งขึ้น
การดูแลหลอดเลือดสมองในทัศนะการแพทย์จีน
การดูแลหลอดเลือดสมอง การแพทย์จีนจะนิยมใช้วิธีบำบัดแบบองค์รวมและปรับสมดุลร่างกาย ผ่านตำรับยาที่สกัดจากพืชสมุนไพรธรรมชาติหลายชนิด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยจะมีหลักการทำงานดังนี้
- ปรับสมดุลตับ เพื่อให้ตับผลิตไขมันในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ผลิตไขมันมากหรือเร็วเกินไป
- ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ เพิ่ม HDL เพื่อส่งเสริมการนำ LDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีไปทำลายที่ตับ
- สลายภาวะเลือดคั่ง ลดความข้นหนืดของเซลล์เม็ดเลือด
- ยับยั้งการก่อตัวของลิ่มเลือด
- ผลักดันการไหลเวียนของเลือด เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดฝอย
- ลดการแข็งตัวและเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือด
ท่านที่สนใจดูแลหลอดเลือดสมองตามทัศนะการแพทย์จีน ก็สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์แผนจีนและผู้เชี่ยวชาญได้ที่ไอดีไลน์ @enwei
จบแล้วกับข้อมูลปัจจัยเสี่ยงและวิธีป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง พร้อมด้วยข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางเอินเวย์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ
เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์จีน เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดี