หน้าแรก  »  บทความสุขภาพ  »  Non-HDL Cholesterol คืออะไร มีค่าปกติอยู่ที่เท่าไหร่

Non-HDL Cholesterol คืออะไร มีค่าปกติอยู่ที่เท่าไหร่

Non-HDL Cholesterol คืออะไร มีค่าปกติอยู่ที่เท่าไหร่

ค่าผลตรวจไขมันในเลือดที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดีก็คงหนีไม่พ้น Total Cholesterol, LDL, HDL และ Triglyceride แต่นอกจาก 4 ค่านี้แล้ว ก็ยังมีการนำบางค่ามาคำนวณเป็นค่าอื่นๆ เพิ่มเติมอีก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็จะมี Non-HDL Cholesterol ที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ

สำหรับท่านใดที่ยังไม่ทราบว่า Non-HDL Cholesterol คืออะไร แล้วมีค่าปกติอยู่ที่เท่าไหร่ เอินเวย์ ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์สมุนไพรจีนสมัยใหม่ ก็ขออาสามาให้ข้อมูลในบทความนี้เองค่ะ

Non-HDL Cholesterol คืออะไร

Non-HDL Cholesterol (เรียกสั้นๆ ว่า Non-HDL-C หรือ Non-HDL) คือค่าคำนวณไขมันในเลือดที่ได้มาจากการลบ Total Cholesterol (คอเลสเตอรอลรวม) ด้วย HDL (ไขมันดี)

ค่าที่ได้จึงเป็นการนับรวมคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีทั้งหมด ซึ่งก็คือ LDL, VLDL และ IDL (เมื่อพูดถึงไขมันเลว คนส่วนใหญ่จะรู้จักเฉพาะ LDL แต่จริงๆ แล้วก็ยังมีไขมันเลวชนิดอื่นอีกด้วย)

ด้วยจุดเด่นของ Non-HDL Cholesterol ที่มักถูกมองว่าใช้ชี้วัดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดีกว่า LDL อีกทั้งยังสามารถตรวจวัดได้โดยที่ไม่ต้องอดอาหาร Non-HDL Cholesterol จึงเป็นค่าการตรวจไขมันในเลือดที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงหลัง

(วิธีตรวจไขมันในเลือดที่ใช้กันในปัจจุบัน จะไม่นิยมตรวจวัด LDL โดยตรง แต่จะคำนวณจากสูตร LDL = Total Cholesterol – HDL – (0.2 X Triglyceride) ซึ่งการตรวจ Triglyceride นั้นจำเป็นจะต้องอดอาหารก่อนตรวจประมาณ 8-12 ชั่วโมง เลยเป็นที่มาว่าทำไมการตรวจ LDL จึงต้องอดอาหาร ในขณะที่ Non-HDL Cholesterol ไม่ได้ใช้ Triglyceride ในการคำนวณ เลยไม่จำเป็นต้องอดอาหาร)

ตัวอย่างการคำนวณค่า Non-HDL Cholesterol

สมมติว่าผลตรวจ Total Cholesterol คือ 200 mg/dL และผลตรวจ HDL คือ 60 mg/dL การคำนวณค่า Non-HDL Cholesterol ก็จะสามารถทำได้ดังนี้

Non-HDL Cholesterol = Total Cholesterol – HDL = 200 – 60 = 140 mg/dL

Non-HDL Cholesterol มีค่าปกติอยู่ที่เท่าไหร่

ค่าปกติของ Non-HDL Cholesterol จะนิยมใช้เกณฑ์ LDL แล้วบวกเพิ่มด้วย 30 อย่างเช่นในผู้ใหญ่ทั่วไป ค่า LDL ควรจะน้อยกว่า 100 mg/dL ค่าปกติของ Non-HDL Cholesterol จึงควรน้อยกว่า 130 mg/dL

แนวทางการใช้ Non-HDL Cholesterol

ในขณะที่บางองค์กรในบางประเทศ จะให้น้ำหนักกับ Non-HDL Cholesterol มากเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น

  • National Institute for Health and Care Excellence (NICE) ซึ่งเป็นองค์กรหลักในด้านสุขภาพของประเทศอังกฤษ ได้แนะนำให้ใช้ Non-HDL Cholesterol แทน LDL ในการประเมินและดูแลไขมันในเลือด
  • National Lipid Association (NLA) ซึ่งเป็นองค์กรศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการไขมันในเลือดในสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้ดูแลทั้ง Non-HDL Cholesterol และ LDL ควบคู่กันสำหรับผู้ที่มีไขมันในเลือดผิดปกติ

แต่องค์กรด้านสุขภาพส่วนใหญ่ในหลายๆ ประเทศรวมถึงไทย ก็ยังคงแนะนำให้เน้นดู LDL เป็นหลัก ส่วน Non-HDL Cholesterol นั้นมักถูกใช้เป็นเป้าหมายรองสำหรับผู้ป่วยบางกลุ่ม อย่างเช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไต ฯลฯ

วิธีลด Non-HDL Cholesterol

วิธีลด Non-HDL Cholesterol ในเลือด ก็จะมีความคล้ายคลึงกับวิธีลด LDL และ Triglyceride โดยจะสามารถทำได้ดังนี้

  • จำกัดไขมันอิ่มตัว เนื่องจากการได้รับไขมันอิ่มตัวเกิน จะมีผลทำให้ Non-HDL Cholesterol สูงขึ้น ตัวอย่างอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงก็อย่างเช่น เนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ น้ำมันสัตว์ เนย น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ ฯลฯ
  • เลี่ยงไขมันทรานส์ เนื่องจากการได้รับไขมันทรานส์แม้เพียงปริมาณไม่มาก ก็จะมีผลทำให้ Non-HDL Cholesterol สูงขึ้น ตัวอย่างอาหารที่เป็นแหล่งของไขมันทรานส์ก็อย่างเช่น เนยขาวและเนยเทียมบางสูตร รวมถึงอาหารที่มีเนยเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ (ประเทศไทยห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายไขมันทรานส์ตั้งแต่ปี 2019)
  • จำกัดน้ำตาล เนื่องจากการได้รับน้ำตาลเกิน จะมีผลทำให้ Non-HDL Cholesterol สูงขึ้น ตัวอย่างอาหารที่มีน้ำตาลสูงก็อย่างเช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน ไอศครีม ฯลฯ
  • จำกัดแอลกอฮอล์ เนื่องจากการได้รับแอลกอฮอล์เกิน จะมีผลทำให้ Non-HDL Cholesterol สูงขึ้น อีกทั้งยังมีผลเพิ่มความดันอีกด้วย ตัวอย่างอาหารที่เป็นแหล่งของแอลกอฮอล์ก็อย่างเช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ
  • กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพหลอดเลือดเพิ่มขึ้น เพื่อแทนที่อาหารที่มีผลเสีย ตัวอย่างอาหารที่แนะนำก็อย่างเช่น ข้าวแป้งขัดสีน้อย ถั่ว ธัญพืช ผัก ผลไม้ นมไขมันต่ำ เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ ฯลฯ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เนื่องจากการออกกำลังกายประเภทแอโรบิค อย่างเช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก ฯลฯ จะมีผลช่วยลด Non-HDL Cholesterol โดยจะแนะนำให้ออกกำลังกายที่ความหนักระดับปานกลาง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที
  • ลดน้ำหนัก เนื่องจากในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ การลดน้ำหนักอย่างน้อย 5-10% ผ่านการควบคุมอาหารร่วมกับการเพิ่มกิจกรรมทางกาย ก็จะมีผลช่วยลด Non-HDL Cholesterol
  • งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นการสูบเองหรือได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น ก็จะมีผลทำให้ Non-HDL Cholesterol สูงขึ้น อีกทั้งยังมีผลทำร้ายหลอดเลือดโดยตรงอีกด้วย
  • ดูแลโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากโรคประจำตัวบางโรคอาจมีผลทำให้ Non-HDL Cholesterol สูงขึ้น หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อย่างเช่น โรคเบาหวาน ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ฯลฯ
  • ปรับยาที่ใช้ หากยาที่ใช้อยู่มีผลข้างเคียงต่อไขมันในเลือด ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้ดูแล ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรปรับหรือหยุดยาเองเป็นอันขาด
  • ใช้ยาลดไขมันในเลือด หากการปรับพฤติกรรมสุขภาพเพื่อลด Non-HDL Cholesterol ไม่ได้ผล หรือแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่าควรใช้ยาช่วย แพทย์ก็จะจ่ายยาลดไขมันให้ตามความเหมาะสม

การดูแลสุขภาพหลอดเลือดตามทัศนะการแพทย์จีน

การแพทย์จีนนิยมใช้วิธีบำบัดแบบองค์รวมและปรับสมดุลร่างกาย ผ่านตำรับยาที่สกัดจากพืชสมุนไพรธรรมชาติหลายชนิด เพื่อการดูแลสุขภาพหลอดเลือดที่ครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งก็จะมีหลักการทำงานดังนี้

  • ปรับสมดุลตับ เพื่อให้ตับผลิตไขมันในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ผลิตไขมันมากหรือเร็วเกินไป
  • ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ เพิ่ม HDL เพื่อส่งเสริมการนำ LDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีไปทำลายที่ตับ
  • สลายภาวะเลือดคั่ง ลดความข้นหนืดของเซลล์เม็ดเลือด
  • ยับยั้งการก่อตัวของลิ่มเลือด
  • ผลักดันการไหลเวียนของเลือด เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดฝอย
  • ลดการแข็งตัวและเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือด

ท่านที่สนใจดูแลไขมันในเลือดและสุขภาพหลอดเลือดตามทัศนะการแพทย์จีน ก็สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์แผนจีนและผู้เชี่ยวชาญได้ที่ไอดีไลน์ @enwei

จบแล้วกับประเด็นคำถามที่ว่า Non-HDL Cholesterol คืออะไร มีค่าปกติอยู่ที่เท่าไหร่ พร้อมด้วยข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางเอินเวย์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ

เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์จีน เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดี

YouTube player
ปรึกษาแพทย์จีน
ปรึกษาแพทย์จีน
Scroll to Top