โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก (Stroke) นับเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตและความพิการที่เกิดขึ้นทั่วโลก ผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากโรคนี้ต่างก็ต้องผ่านการบำบัดฟื้นฟู เพื่อช่วยลดอาการผิดปกติที่เกิดจากการตายของเนื้อสมอง ทั้งยังต้องใส่ใจดูแลควบคุมปัจจัยเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพราะจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำค่อนข้างสูง
สำหรับท่านใดที่มีข้อสงสัยว่าผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ห้ามและควรกินอาหารอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถฟื้นฟูได้ดี และช่วยลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำ เอินเวย์ ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์สมุนไพรจีนสมัยใหม่ ก็ขออาสานำข้อมูลแนวทางมาให้ชมกันในบทความนี้เองค่ะ
ความสำคัญของโภชนบำบัด
การดูแลอาหารการกินให้เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก จะมีบทบาทสำคัญหลักๆ ดังนี้
- ลดความเสี่ยงการกลับมาเป็นซ้ำ ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก จะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำค่อนข้างสูง การใส่ใจดูแลอาหารการกินเพื่อช่วยควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรคจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
- ช่วยในการฟื้นฟู การได้รับพลังงานและสารอาหารอย่างครบถ้วนและเหมาะสม จะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการฟื้นฟูของร่างกาย
- ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก บางส่วนจะมีปัญหาการเคี้ยว การกลืน หรือการขับถ่าย ซึ่งแนวทางการกินที่เหมาะสมก็จะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้
- เหมาะสมกับยาที่ใช้ สารอาหารบางชนิดอาจมีผลกระทบต่อยาที่ใช้ และในทางกลับกัน ยาบางชนิดก็อาจมีผลกระทบต่อภาวะโภชนาการของผู้ป่วย การดูแลอาหารการกินโดยคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญด้วยเช่นกัน
ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ห้ามกินอะไร
อาหารที่ห้ามกินหรือควรจำกัดปริมาณสำหรับผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ก็จะประกอบไปด้วย
- อาหารโซเดียมสูง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอส น้ำจิ้ม น้ำพริก อาหารรสเค็ม อาหารรสจัด อาหารแปรรูป เบเกอรี่ ฯลฯ การได้รับโซเดียมเกินจะมีส่วนทำให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งจะถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักอย่างหนึ่งของการเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ซ้ำ
- อาหารน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน ไอศครีม ฯลฯ การได้รับน้ำตาลเกินจะส่งผลกระทบต่อไขมันในเลือด น้ำตาลในเลือด และน้ำหนักตัว ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการกลับมาเป็นซ้ำของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ทั้งสิ้น
- อาหารพลังงานสูง โดยเฉพาะอาหารแปรรูปที่มีแป้ง น้ำตาล หรือไขมันสูง อย่างเช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนม เบเกอรี่ อาหารฟาสต์ฟู้ด ฯลฯ เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะทำให้เสี่ยงเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ซ้ำมากขึ้น ผ่านผลกระทบที่มีต่อไขมันในเลือด น้ำตาลในเลือด และน้ำหนักตัว
- อาหารไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ น้ำมันสัตว์ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ ฯลฯ การได้รับไขมันอิ่มตัวเกินจะมีส่วนทำให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ในเลือดสูงขึ้น จึงมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลับมาเป็นซ้ำของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก
- อาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น เนยขาวและเนยเทียมบางสูตร รวมถึงอาหารที่นิยมใช้เนยเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ อย่างเช่น เค้ก คุกกี้ พาย อาหารฟาสต์ฟู้ด ฯลฯ การได้รับไขมันทรานส์แม้เพียงปริมาณไม่มาก ก็จะมีผลทำให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ในเลือดสูงขึ้น และยังมีผลทำให้คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดลงอีกด้วย (ประเทศไทยได้ออกกฎหมายห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายไขมันทรานส์ตั้งแต่ปี 2019)
- เนื้อแดงและเนื้อแปรรูป เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ แฮม เบคอน ไส้กรอก กุนเชียง ฯลฯ ข้อมูลงานวิจัยปัจจุบันพบว่า การได้รับเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปปริมาณมากเป็นประจำ จะทำให้เสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือตันเพิ่มขึ้น ซึ่งก็คาดว่าอาจเป็นผลมาจากการได้รับไขมันอิ่มตัว ธาตุเหล็กในรูปฮีม และสารเคมีบางชนิดมากเกินควร
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ เนื่องจากการได้รับแอลกอฮอล์เกิน จะมีผลเสียต่อความดันและไขมันในเลือด ซึ่งต่างก็เป็นปัจจัยเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ก็ยังมีผลรบกวนการดูดซึม การขับออก หรือการออกฤทธิ์ของยาบางชนิดอีกด้วย
ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ควรกินอะไร
อาหารที่ควรกินสำหรับผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ที่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ ก็จะประกอบไปด้วย
- ข้าวแป้งขัดสีน้อยและธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ลูกเดือย ถั่วเขียว ถั่วแดง ฯลฯ อาหารเหล่านี้จะดีต่อการควบคุมไขมันและน้ำตาลในเลือด ทั้งยังอยู่ท้องมากกว่า เมื่อเทียบกับอาหารจำพวกข้าวแป้งขัดสีและน้ำตาล
- ผักและผลไม้ ผักและผลไม้จะเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ และสารต้านการอักเสบ การได้รับผักและผลไม้อย่างเพียงพอ (รวมกันอย่างน้อย 5 ส่วนต่อวัน) จึงมีความสำคัญต่อการฟื้นฟู การป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ และยังมีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพในด้านอื่นๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ก็ควรระวังผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง รวมถึงน้ำผลไม้และผลไม้แปรรูป เพราะอาจมีส่วนทำให้ได้รับน้ำตาลเกินได้
- เนื้อสัตว์ประเภทเนื้อขาว เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อเป็ด ฯลฯ เมื่อเทียบกันแล้ว เนื้อสัตว์ประเภทเนื้อขาวจะมีไขมันอิ่มตัวและธาตุเหล็กในรูปฮีมน้อยกว่าเนื้อแดง (ตัวอย่างเนื้อแดงก็อย่างเช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ ฯลฯ) จึงเป็นแหล่งโปรตีนที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก มากกว่า นอกจากนี้แล้ว เนื้อปลาหลายชนิดก็ยังเป็นแหล่งที่ดีของกรดไขมันโอเมก้า 3 อีกด้วย ซึ่งจะมีสรรพคุณช่วยต้านการอักเสบ ต้านการแข็งตัวของเลือด และช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด
- ผลิตภัณฑ์นมวัวไขมันต่ำ เช่น นมวัวพร่องมันเนย นมวัวขาดมันเนย โยเกิร์ตสูตรไขมันต่ำ ฯลฯ จะมีไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าผลิตภัณฑ์นมวัวสูตรปกติ จึงถือเป็นแหล่งของโปรตีนและแร่ธาตุสำคัญที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก มากกว่า โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
- ถั่ว เช่น ถั่วลิสง ถั่วพิสตาชิโอ อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ แมคคาเดเมีย ฯลฯ ก็เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ด้วยเช่นกัน เนื่องจากจะอุดมไปด้วยโปรตีน กรดไขมันดี แร่ธาตุ และใยอาหาร
- น้ำมันพืช เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า ฯลฯ (ยกเว้นน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าว เนื่องจากน้ำมันเหล่านี้จะมีไขมันอิ่มตัวสูง) จะเป็นแหล่งไขมันที่อุดมไปด้วยกรดไขมันดี วิตามิน และสารพฤกษเคมี จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก มากกว่าไขมันจากสัตว์ ซึ่งมีไขมันอิ่มตัวสูง
ปัจจัยต่างๆ ในด้านสุขภาพที่ต้องคำนึงถึง
เนื่องจากผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก แต่ละคนก็จะมีปัจจัยทางด้านสุขภาพที่ต่างกัน เช่น อาการหลงเหลือ โรคประจำตัว ยาที่ใช้ ฯลฯ การกำหนดแนวทางการกินให้เหมาะสมจึงต้องพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้ร่วมด้วย ตัวอย่างเช่น
- ผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ จะเสี่ยงต่อการได้รับพลังงานและสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งจะกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันและการฟื้นฟูของร่างกาย จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลด้านอาหารการกินอย่างใกล้ชิด
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาการเคี้ยวและการกลืน จะเสี่ยงต่อการได้รับพลังงานและสารอาหารไม่เพียงพอ และเสี่ยงเกิดปัญหาสำลัก ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลด้านอาหารการกินอย่างใกล้ชิด และอาจจำเป็นต้องได้รับการฝึกกลืน โดยใช้อาหารที่ผ่านการปรับเปลี่ยนเนื้อสัมผัส
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาท้องผูก อาจบรรเทาอาการได้ด้วยการกินอาหารที่เป็นแหล่งของใยอาหารเพิ่มขึ้น อย่างเช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ข้าวแป้งไม่ขัดสี ฯลฯ ร่วมกับการดื่มน้ำอย่างเพียงพอ (ผู้ที่ปกติได้รับใยอาหารน้อยก็ควรค่อยๆ ปรับเพิ่มปริมาณใยอาหารที่ได้รับ เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับตัวได้ มิเช่นนั้นอาจเกิดอาการผิดปกติต่างๆ ในระบบทางเดินอาหาร อย่างเช่น ท้องอืด ท้องเสีย หรือแม้กระทั่งอาจมีปัญหาท้องผูกหนักกว่าเดิม)
- ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ ควรควบคุมพลังงานที่ได้รับ ร่วมกับดูแลปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อน้ำหนักตัวอย่างเหมาะสม อย่างเช่น ดูแลความเครียด หมั่นออกกำลังกาย ฯลฯ เนื่องจากการมีน้ำหนักตัวเกินจะมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลับมาเป็นซ้ำของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ควรควบคุมอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล และใช้ยาตามที่แพทย์จ่ายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูง การมีน้ำตาลในเลือดสูงจะทำให้เสี่ยงต่อการกลับมาเป็นซ้ำของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก มากขึ้น
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรควบคุมปริมาณโซเดียมและแอลกอฮอล์ที่ได้รับ และดูแลปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม อย่างเช่น งดสูบบุหรี่ นอนหลับให้เพียงพอ ดูแลความเครียด ฯลฯ เพื่อช่วยให้ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด การมีความดันโลหิตสูงก็จะทำให้เสี่ยงต่อการกลับมาเป็นซ้ำของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก มากขึ้นเช่นกัน
- ผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมปริมาณไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ น้ำตาล และแอลกอฮอล์ที่ได้รับ ร่วมกับดูแลปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม อย่างเช่น งดสูบบุหรี่ หมั่นออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัว ฯลฯ เพื่อให้ไขมันในเลือดลดลงจนอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด การมีไขมันในเลือดสูงก็จะเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับการกลับมาเป็นซ้ำของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก
การดูแลเส้นเลือดสมองในทัศนะการแพทย์จีน
การดูแลเส้นเลือดในสมอง การแพทย์จีนจะนิยมใช้วิธีบำบัดแบบองค์รวมและปรับสมดุลร่างกาย ผ่านตำรับยาที่สกัดจากพืชสมุนไพรธรรมชาติหลายชนิด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยจะมีหลักการทำงานดังนี้
- ปรับสมดุลตับ เพื่อให้ตับผลิตไขมันในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ผลิตไขมันมากหรือเร็วเกินไป
- ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ เพิ่ม HDL เพื่อส่งเสริมการนำ LDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีไปทำลายที่ตับ
- สลายภาวะเลือดคั่ง ลดความข้นหนืดของเซลล์เม็ดเลือด
- ยับยั้งการก่อตัวของลิ่มเลือด
- ผลักดันการไหลเวียนของเลือด เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดฝอย
- ลดการแข็งตัวและเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือด
ท่านที่สนใจดูแลเส้นเลือดในสมองตามทัศนะการแพทย์จีน ก็สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์แผนจีนและผู้เชี่ยวชาญได้ที่ไอดีไลน์ @enwei
จบแล้วกับประเด็นคำถามที่ว่า ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ห้ามและควรกินอาหารอะไร พร้อมด้วยข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางเอินเวย์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ
เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์จีน เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดี