การบริจาคเลือดแม้จะเป็นบุญเป็นกุศล แต่หากร่างกายของผู้บริจาคไม่พร้อมก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ สำหรับผู้ที่มีภาวะเลือดจางที่สงสัยว่าตนสามารถบริจาคเลือดได้ไหม ทางเอินเวย์ก็ได้นำข้อกำหนดจากทางสภากาชาดมาให้ชมกันแบบง่ายๆ แล้วค่ะ
เลือดจางบริจาคเลือดได้ไหม
อ้างอิงจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ผู้ที่เคยมีภาวะเลือดจางจากสาเหตุต่างๆ ได้แก่ พาหะธาลัสซีเมีย ภาวะธาตุเหล็กสะสมต่ำ ภาวะเลือดออกเรื้อรัง หากได้รับการรักษาและมีความเข้มข้นของเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็จะสามารถบริจาคเลือดได้
หรืออาจกล่าวง่ายๆ ได้อีกแบบว่า ผู้ที่มีภาวะเลือดจางก็จะต้องงดบริจาคเลือดไปก่อน จนกว่าจะได้รับการรักษาจนมีค่าเลือดเป็นปกติ
ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องด้วยการบริจาคเลือดนั้นจะทำให้ร่างกายสูญเสียเม็ดเลือดแดงและธาตุเหล็ก ผู้ที่มีภาวะเลือดจางซึ่งจะมีเม็ดเลือดแดงน้อยอยู่แล้ว จึงอาจยิ่งเกิดผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้น
เลือดจางส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร
ภาวะเลือดจางจะส่งผลให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอจนอาจเกิดอาการผิดปกติ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ขาดสมาธิ หงุดหงิดง่าย ผิวซีด เล็บซีด ขี้หนาว มือเท้าเย็น ใจสั่น ฯลฯ ส่วนในผู้ที่ตั้งครรภ์ ภาวะเลือดจางก็อาจก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ได้
ทั้งนี้ ในระยะยาว ภาวะเลือดจางก็ยังสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจโตหรือหัวใจล้มเหลว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้อีกด้วย เนื่องจากหัวใจจะต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยปริมาณออกซิเจนในเลือดที่ลดลง
เลือดจางต้องรักษาอย่างไร
การรักษาภาวะเลือดจาง แพทย์จะพิจารณาจากสาเหตุและความรุนแรงเป็นหลัก ซึ่งสำหรับภาวะเลือดจางที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก (พบได้บ่อยสุด) แพทย์ก็มักจะรักษาด้วยการดูแลให้ได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ เช่น
- กินอาหารที่อุดมธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผักโขม คะน้า ตำลึง ฯลฯ โดยอาจเน้นกินอาหารที่มีวิตามินซีสูงร่วมด้วย เช่น ส้ม ส้มโอ ฝรั่ง มะละกอ กีวี สตรอเบอร์รี่ มะเขือเทศ บร็อคโคลี่ ฯลฯ เพราะจะช่วยเสริมการดูดซึมธาตุเหล็กที่มาจากอาหารจำพวกพืชได้ ในทางกลับกัน การจำกัดอาหารบางชนิดที่อาจมีผลรบกวนการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น ชา กาแฟ ฯลฯ ก็อาจมีส่วนช่วยได้เช่นกัน
- กินยาเสริมธาตุเหล็ก วิธีนี้จะสะดวกกว่า แต่ก็อาจมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้ท้องผูก การใช้ยาเสริมธาตุเหล็กนั้นควรอยู่ภายใต้คำปรึกษาและการกำกับดูแลโดยแพทย์เท่านั้น เนื่องด้วยการได้รับธาตุเหล็กเกินก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
จบแล้วกับประเด็นคำถามที่ว่า เลือดจางบริจาคเลือดได้ไหม พร้อมด้วยข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางเอินเวย์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ
เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์จีน เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดี