อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงมีอะไรบ้าง แล้วคนทั่วไปและผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงควรได้รับคอเลสเตอรอลไม่เกินวันละเท่าไหร่ ท่านใดที่มีข้อสงสัยเหล่านี้ เอินเวย์ก็ได้นำคำตอบมาให้ดูกันแบบง่ายๆ ในบทความนี้แล้วค่ะ
ตารางแสดงรายการอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง
ตัวอย่างอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง พร้อมด้วยข้อมูลปริมาณ อ้างอิงจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็อย่างเช่น
(โดยทั่วไปแล้ว คอเลสเตอรอลจะพบได้ในอาหารที่มาจากสัตว์ ส่วนอาหารที่มาจากพืช อย่างเช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว นมถั่วเหลือง น้ำมันพืช ฯลฯ จะไม่มีคอเลสเตอรอล)
อาหาร | ปริมาณ | คอเลสเตอรอล (มิลลิกรัม) |
---|---|---|
ไข่แดง (ไข่เป็ด) | 1 ฟอง (23 กรัม) | 333 |
ไข่แดง (ไข่ไก่) | 1 ฟอง (15 กรัม) | 188 |
ชีส | 1 แผ่น (100 กรัม) | 94 |
ปูม้า | 1 ตัว (95 กรัม) | 86 |
ไข่ปลาเก๋า | 1 ช้อนโต๊ะ (13 กรัม) | 65 |
ตับหมู | 1 ช้อนโต๊ะ (17 กรัม) | 62 |
ตับไก่ | 1 ช้อนโต๊ะ (17 กรัม) | 57 |
น้ำสลัดข้น | 1 ช้อนโต๊ะ (13 กรัม) | 54 |
ไตวัว | 1 ช้อนโต๊ะ (18 กรัม) | 46 |
ปลาหมึกกล้วย (ส่วนหัว) | 1 ช้อนโต๊ะ (14 กรัม) | 45 |
ไข่ปูม้า | 1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม) | 41 |
ตับวัว | 1 ช้อนโต๊ะ (17 กรัม) | 37 |
ไตหมู | 1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม) | 35 |
นมวัว | 200 มิลลิลิตร | 34 |
กุ้งแชบ๊วย | 1 ช้อนโต๊ะ (16 กรัม) | 31 |
หัวใจวัว | 1 ช้อนโต๊ะ (18 กรัม) | 30 |
หอยแครง | 1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม) | 29 |
กุ้งกุลาดำ | 1 ช้อนโต๊ะ (16 กรัม) | 28 |
เนย | 1 ช้อนโต๊ะ (12 กรัม) | 22 |
ไส้ตันหมู | 1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม) | 21 |
หัวใจหมู | 1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม) | 20 |
หอยลาย | 1 ช้อนโต๊ะ (11 กรัม) | 15 |
เบคอน | 1 ชิ้น (28 กรัม) | 14 |
หอยนางรม | 1 ตัว (5 กรัม) | 12 |
*ในชีวิตจริง เรามักจะกินอาหารบางชนิดมากกว่าปริมาณที่แสดงในตาราง การคำนวณปริมาณคอเลสเตอรอลที่ได้รับจึงจะต้องคูณเพิ่มตามปริมาณที่กินจริงอีกที
โดยสรุปแล้ว อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงจะแบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้
- อาหารจำพวกไข่ เช่น ไข่เป็ด ไข่ไก่ ไข่นกกระทา ไข่ปู ไข่กุ้ง ไข่ปลา ฯลฯ (ถ้าเป็นไข่สัตว์ปีก คอเลสเตอรอลจะอยู่ในไข่แดง ส่วนไข่ขาวนั้นจะไม่มีคอเลสเตอรอล)
- เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ ไต หัวใจ ปอด ม้าม ไส้ตัน ฯลฯ
- อาหารทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาหมึก ฯลฯ
- อาหารที่มีไขมันนมหรือไข่แดงเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น เนย ชีส น้ำสลัดข้น ไอศครีมบางชนิด เบเกอรี่บางชนิด ฯลฯ
ส่วนอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และไขมันสัตว์อื่นๆ อย่างเช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว น้ำมันหมู ฯลฯ แม้จะไม่ได้มีคอเลสเตอรอลสูงเท่าอาหารเหล่านี้ แต่ก็ถือเป็นแหล่งสำคัญและสามารถมีส่วนทำให้เราได้รับคอเลสเตอรอลเกินได้เมื่อได้รับมากเกินไป
(นอกจากคอเลสเตอรอลแล้ว เราก็ควรระวังในส่วนของไขมันอิ่มตัวในอาหารด้วยเช่นกัน เนื่องจากการได้รับไขมันอิ่มตัวเกินจะมีผลทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น โดยไขมันอิ่มตัวนั้นจะพบมากในอาหารจากสัตว์ที่มีไขมันสูง อย่างเช่น หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน น้ำมันสัตว์ ฯลฯ และยังพบมากในน้ำมันจากพืชเขตร้อน อย่างเช่น น้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าว)
ควรได้รับคอเลสเตอรอลไม่เกินวันละเท่าไหร่
ที่ผ่านมา องค์กรต่างๆ ในด้านสุขภาพจะแนะนำให้จำกัดปริมาณคอเลสเตอรอลที่ได้รับจากอาหาร เพราะมองว่าการได้รับมากเกินไปจะมีผลทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
- สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำว่าคนทั่วไปควรได้รับคอเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน
- สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำว่าคนทั่วไปควรได้รับคอเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน
- National Lipid Association ได้แนะนำว่าผู้ที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงควรได้รับคอเลสเตอรอลไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน
อย่างไรก็ตาม บางองค์กรก็ได้ยกเลิกเกณฑ์ตัวเลขข้อแนะนำในระยะหลัง เนื่องด้วยข้อมูลจากงานวิจัยและการตีความที่เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น
- 2015-2020 Dietary Guidelines for Americans ซึ่งเป็นข้อแนะนำการกินระดับประเทศของสหรัฐอเมริกาที่ออกโดยกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ (HHS) ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ (USDA) ได้ยกเลิกเกณฑ์ตัวเลขปริมาณคอเลสเตอรอลที่ควรจำกัด โดยให้เหตุผลว่าหลักฐานงานวิจัยที่สนับสนุนนั้นมีน้ำหนักไม่เพียงพอ (คอเลสเตอรอลที่กินอาจไม่ได้ส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเท่าใดนัก คอเลสเตอรอลในร่างกายส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นมาจากตับ)
- 2020-2025 Dietary Guidelines for Americans ซึ่งเป็นข้อแนะนำที่ถูกปรับปรุงฉบับถัดมาก็ยังคงไม่ได้ระบุเกณฑ์ตัวเลข แต่ก็ได้แนะนำว่าควรได้รับคอเลสเตอรอลให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่ไม่ได้ทำให้ขาดแคลนสารอาหารจำเป็นใดๆ
แม้ข้อแนะนำระยะหลังจะมีความสับสนอยู่บ้าง และยังอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลการศึกษาใหม่ๆ แต่ความเห็นผู้เชี่ยวชาญปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ยังคงมองว่าควรจำกัดปริมาณคอเลสเตอรอลที่ได้รับไม่ให้มากเกินไป ซึ่งก็เนื่องด้วยเหตุผลดังนี้
- แม้ข้อมูลงานวิจัยจะยังขาดความชัดเจน แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีบางปัจจัยที่ทำให้บางคนได้รับผลกระทบจากคอเลสเตอรอลที่กินมากกว่าคนอื่น อย่างเช่น พันธุกรรม สภาวะโรค พฤติกรรมสุขภาพต่างๆ ฯลฯ ซึ่งการระมัดระวังตัวไว้ก็ย่อมดีกว่า
- อาหารหลายชนิดที่มีคอเลสเตอรอลก็มักจะเป็นแหล่งของไขมันอิ่มตัวด้วย ซึ่งไขมันอิ่มตัวจะถือเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นหากได้รับมากเกินไป
- แนวทางการกินที่มีงานวิจัยรองรับว่าสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้โดยทั่วไปแล้วจะมีคอเลสเตอรอลต่ำ (เน้นอาหารจำพวกผัก ผลไม้ ข้าวแป้งขัดสีน้อย ถั่ว เมล็ด ธัญพืช น้ำมันพืช นมไขมันต่ำ และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ)
ทั้งนี้ การหมั่นตรวจคอเลสเตอรอลในเลือดอย่างน้อยทุกๆ 1-2 ปี ก็จะช่วยให้รู้ถึงความเหมาะสมของการคุมคอเลสเตอรอลจากอาหาร รวมถึงพฤติกรรมสุขภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของตนได้ (เช่น พฤติกรรมการกินอื่นๆ การออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนัก การเลิกบุหรี่ ฯลฯ) ซึ่งก็จะช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ให้เหมาะสมได้มากยิ่งขึ้น
คอเลสเตอรอลในเลือดสูงห้ามกินอะไร
ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงควรใส่ใจควบคุมอาหารทุกประเภทที่มีผลเสียต่อไขมันในเลือด ซึ่งก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงเท่านั้น
- อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน น้ำมันสัตว์ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ ฯลฯ เนื่องจากการได้รับไขมันอิ่มตัวเกินจะมีผลทำให้ไขมันเลวในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- อาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น เนยเทียมและเนยขาวบางสูตร เนื่องจากการได้รับไขมันทรานส์จะมีผลทำให้ไขมันเลวในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ ฯลฯ เนื่องจากการได้รับคอเลสเตอรอลเกินอาจมีผลทำให้ไขมันเลวในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- อาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน ไอศครีม เบเกอรี่ ฯลฯ เนื่องจากการได้รับน้ำตาลเกินจะมีผลทำให้ไตรกลีเซอร์ไรด์และไขมันเลวในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ เนื่องจากการได้รับแอลกอฮอล์เกินจะมีผลทำให้ไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
คอเลสเตอรอลในเลือดสูงควรกินอะไร
ในทางกลับกัน ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงก็ควรหันมาเน้นกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น ตัวอย่างเช่น
- ข้าวแป้งขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ข้าวหอมนิล ข้าวสังข์หยด ข้าวโอ๊ต โฮลวีท ฯลฯ
- ถั่ว เมล็ด ธัญพืช เช่น ถั่วลิสง มะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ เมล็ดทานตะวัน ลูกเดือย ฯลฯ
- ผักและผลไม้ เช่น กล้วย ส้ม สับปะรด คะน้า บร็อคโคลี่ ผักบุ้ง ฯลฯ
- น้ำมันพืชที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันคาโนล่า น้ำมันมะกอก ฯลฯ
- ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ เช่น นมวัวไขมันต่ำ โยเกิร์ตไขมันต่ำ ฯลฯ
- เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา อกไก่ ไข่ขาว เนื้อสันในหมู ฯลฯ
การดูแลสุขภาพหลอดเลือดตามทัศนะการแพทย์จีน
การแพทย์จีนนิยมใช้วิธีบำบัดแบบองค์รวมและปรับสมดุลร่างกาย ผ่านตำรับยาที่สกัดจากพืชสมุนไพรธรรมชาติหลายชนิด เพื่อการดูแลสุขภาพหลอดเลือดที่ครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งก็จะมีหลักการทำงานดังนี้
- ปรับสมดุลตับ เพื่อให้ตับผลิตไขมันในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ผลิตไขมันมากหรือเร็วเกินไป
- ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ เพิ่ม HDL เพื่อส่งเสริมการนำ LDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีไปทำลายที่ตับ
- สลายภาวะเลือดคั่ง ลดความข้นหนืดของเซลล์เม็ดเลือด
- ยับยั้งการก่อตัวของลิ่มเลือด
- ผลักดันการไหลเวียนของเลือด เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดฝอย
- ลดการแข็งตัวและเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือด
ท่านที่สนใจดูแลไขมันในเลือดและสุขภาพหลอดเลือดตามทัศนะการแพทย์จีน ก็สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์แผนจีนและผู้เชี่ยวชาญได้ที่ไอดีไลน์ @enwei
จบแล้วกับคำถามที่ว่า อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงมีอะไรบ้าง ควรได้รับไม่เกินวันละเท่าไหร่ พร้อมด้วยข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางเอินเวย์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ
เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์จีน เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดี