หน้าแรก  »  บทความสุขภาพ  »  10 วิธีลดความดันสูงแบบธรรมชาติ ทำได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งยา

10 วิธีลดความดันสูงแบบธรรมชาติ ทำได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งยา

วิธีลดความดันสูงแบบธรรมชาติ ทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องกินยา

โรคความดันโลหิตสูงมักไม่แสดงอาการ แต่หากปล่อยไว้นานก็จะนำไปสู่โรคร้ายต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต (เนื่องจากเส้นเลือดในไตเสียหาย) ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรเร่งหาวิธีจัดการดูแลโดยด่วน

YouTube player

สำหรับท่านที่กำลังมองหาวิธีลดความดันแบบธรรมชาติ ทำได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องกินยา ทางเอินเวย์ก็ได้นำข้อมูลมาให้ดูกันแบบง่ายๆ แล้ว วิธีเหล่านี้ถ้าจะให้ดีก็ควรใช้ร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลที่ดียิ่งขึ้น เริ่มดูแลความดันตั้งแต่วันนี้ สุขภาพของท่านจะได้แข็งแรง ห่างไกลจากบรรดาโรคร้ายต่างๆ ค่ะ

1. ลดอาหารโซเดียมสูง

โซเดียมหลักๆ จะมาจากเกลือ ซึ่งพบมากในเครื่องปรุงและอาหารที่มีรสเค็มหรือรสจัด (รสเค็มในอาหารบางทีอาจโดนกลบโดยรสอื่น) อย่างเช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส ผงปรุงรส อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป อาหารปรุงรสจัด ฯลฯ

การได้รับโซเดียมมากเกินไป จะมีผลเพิ่มปริมาณน้ำในกระแสเลือด อีกทั้งยังกระตุ้นให้ผนังหลอดเลือดหดตัว ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ หัวใจเราจะต้องทำงานหนักในการปั๊มเลือดมากขึ้น ความดันก็เลยเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง จึงเป็นที่มาของคำแนะนำโดยองค์การอนามัยโลก ให้จำกัดปริมาณโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (เทียบเป็นเกลือประมาณ 5 กรัม หรือ 1 ช้อนชา)

สำหรับผลของการลดโซเดียมนั้น ข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้นในชาวจีนและชาวญี่ปุ่นที่มีความดันสูงก็ได้พบว่า การลดโซเดียมที่ได้รับจากค่าเฉลี่ยประมาณ 5,000 มิลลิกรัมต่อวัน (เทียบเป็นเกลือประมาณ 12.5 กรัม หรือ 2 ช้อนชาครึ่ง) เหลือ 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน (เทียบเป็นเกลือประมาณ 5.75 กรัม หรือ 1 ช้อนชานิดๆ ) จะสามารถช่วยลดความดันตัวบนได้เฉลี่ยแล้ว 7.75 mmHg และลดความดันตัวล่างได้เฉลี่ยแล้ว 2.68 mmHg โดยงานวิจัยเหล่านี้จะมีช่วงระยะเวลาทดลองตั้งแต่ 6 วันขึ้นไป

ตัวเลขความดันที่ลดลงจะต่างกันไปสำหรับงานวิจัยแต่ละชิ้น แต่ในภาพรวมนั้น ผลลัพธ์ที่ได้จะเด่นชัดกว่าในผู้ที่มีความดันสูง เทียบกับผู้ที่มีความดันปกติ และยังมีแนวโน้มเด่นชัดกว่าในคนเอเชียและคนผิวสี เมื่อเทียบกับคนขาว

แม้งานวิจัยในช่วงหลังจะพบว่า บางคนอาจทนต่อโซเดียมได้ดี (กินโซเดียมแล้วความดันไม่ค่อยขึ้น) แต่เนื่องจากการได้รับโซเดียมสูงอาจมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอื่นด้วย เช่น โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร การควบคุมปริมาณโซเดียมที่ได้รับไม่ให้มากเกินไป จึงถือเป็นสิ่งที่ยังแนะนำสำหรับทุกคนอยู่ดี

2. กินอาหารอุดมโพแทสเซียม

ตรงข้ามกับโซเดียม โพแทสเซียมจะช่วยลดปริมาณน้ำในกระแสเลือด ช่วยให้ผนังหลอดเลือดคลายตัว อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการขับโซเดียมทางปัสสาวะ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ได้รับโพแทสเซียมไม่เพียงพอ เมื่อได้รับโพแทสเซียมจากอาหารมากขึ้น จึงมีผลช่วยลดความดันได้

ตัวอย่างอาหารอุดมโพแทสเซียมนั้นก็ได้แก่

  • ผัก เช่น บร็อคโคลี่ คะน้า กะหล่ำปลี ผักโขม ชะอม แครอท มะเขือเทศ ฟักทอง ฯลฯ
  • ผลไม้ เช่น กล้วย ส้ม ฝรั่ง กีวี แก้วมังกร แคนตาลูป ลูกเกด ขนุน ทุเรียน ลำไย น้อยหน่า ฯลฯ
  • ถั่วและธัญพืช เช่น ถั่วลิสง ถั่วอัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วพิสตาชิโอ ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเขียว เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ
  • นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น โยเกิร์ตและชีส
  • อาหารอื่นๆ เช่น มันฝรั่ง เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ฯลฯ

สังเกตว่าอาหารที่เป็นแหล่งของโพแทสเซียมมักจะเป็นอาหารที่อุดมสารอาหารและผ่านการแปรรูปน้อย การหันมากินอาหารจำพวกนี้มากขึ้น จึงเป็นผลดีต่อสุขภาพโดยรวมนอกเหนือจากเรื่องความดันด้วย

ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้ว อาหารที่มีโพแทสเซียมสูงจะไม่ใช่อาหารที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะมีปัญหาในการขับโพแทสเซียม หากได้รับมากเกินไปก็อาจเป็นอันตราย ซึ่งก็ควรปรึกษาแพทย์และนักกำหนดอาหารผู้ดูแลถึงแนวทางการกินอาหารที่เหมาะสม

3. ลดน้ำหนัก

ผลการรีวิวงานวิจัยหลายชิ้นในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงพบว่า การลดน้ำหนัก 3-5 กิโลกรัม ด้วยการปรับอาหารการกิน จะช่วยลดความดันตัวบนได้เฉลี่ยแล้ว 4.49 mmHg และช่วยลดความดันตัวล่างได้เฉลี่ยแล้ว 3.19 mmHg

จากข้อมูลดังกล่าว การลดน้ำหนักจึงถือเป็นอีกหนึ่งวิธีธรรมชาติในการลดความดันที่ทำได้เองโดยที่ไม่ต้องพึ่งยา ซึ่งนอกจากเรื่องความดันแล้ว การลดน้ำหนักยังมีผลดีต่อระดับไขมันในเลือด อาการปวดหลังปวดข้อ และยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ได้อีกด้วย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็งบางชนิด ฯลฯ

4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายประเภทแอโรบิค เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ฯลฯ จะช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจและปอดอย่างต่อเนื่อง ทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้น สูบฉีดเลือดได้ดี อีกทั้งยังช่วยลดความฝืดแข็งของหลอดเลือด จึงส่งผลให้ความดันในสภาวะปกติของเราลดลง

ผลการรีวิวงานวิจัยหลายชิ้นในผู้ที่มีความดันสูงก็ได้พบว่า การออกกำลังกายประเภทแอโรบิค สามารถช่วยลดความดันตัวบนได้เฉลี่ยแล้ว 12.26 mmHg และช่วยลดความดันตัวล่างได้เฉลี่ยแล้ว 6.12 mmHg ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาต่อเนื่อง 8-12 สัปดาห์

สำหรับรายละเอียดการออกกำลังกายประเภทแอโรบิคเพื่อลดความดันนั้น ทาง International Society of Hypertension ก็ได้แนะนำให้ออกกำลังกายที่ความหนักระดับปานกลาง ต่อเนื่องครั้งละ 30 นาที ด้วยความถี่สัปดาห์ละ 5-7 วัน

(ขณะออกกำลังกายประเภทแอโรบิค ถ้าเราพอจะสามารถพูดเป็นประโยคสั้นๆ ได้ ก็ถือว่าความหนักอยู่ในระดับปานกลางเหมาะสมแล้ว แต่ถ้าเราสามารถพูดคุยได้สบายๆ หรือสามารถร้องเพลงได้ ก็จะถือว่าความหนักอยู่ในระดับที่น้อยเกินไป)

นอกจากการออกกำลังกายประเภทแอโรบิคแล้ว การออกกำลังกายประเภทใช้แรงต้าน (Resistance Training) เช่น ยกน้ำหนัก ใช้อุปกรณ์ยางยืด ใช้น้ำหนักร่างกายตัวเอง ฯลฯ ก็สามารถช่วยลดความดันได้เช่นกัน ผ่านกลไกส่งเสริมการทำงานของหลอดเลือด และช่วยลดแรงต้านภายใน

ซึ่งผลการวิเคราะห์งานวิจัยหลายชิ้นในผู้ที่มีความดันสูงเกินเกณฑ์ก็ได้พบว่า การออกกำลังกายประเภทใช้แรงต้าน สามารถช่วยลดความดันตัวบนได้เฉลี่ยแล้ว 8.2 mmHg และช่วยลดความดันตัวล่างได้เฉลี่ยแล้ว 4.1 mmHg โดยงานวิจัยเหล่านี้จะใช้ระยะเวลาระหว่าง 8-16 สัปดาห์

สำหรับรายละเอียดการออกกำลังกายประเภทใช้แรงต้านเพื่อช่วยลดความดันนั้น ทาง International Society of Hypertension ก็ได้แนะนำให้ออกกำลังกายที่ความถี่ 2-3 วันต่อสัปดาห์

ทั้งนี้ แม้การออกกำลังกายจะค่อนข้างปลอดภัยสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีความดันสูงมากนัก แต่สำหรับผู้ที่มีความดันสูงมากหรือมีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะเริ่มออกกำลังกาย และทางที่ดีก็ควรเริ่มทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายสามารถค่อยๆ ปรับตัวได้

5. ฝึกโยคะและรำไทเก๊ก

นอกเหนือจากการออกกำลังกายทั่วไปแล้ว การฝึกโยคะก็สามารถช่วยลดความดันได้เช่นกัน ซึ่งก็มีผลการรีวิวงานวิจัยหลายชิ้นที่ได้พบว่า การฝึกโยคะในผู้ที่มีความดันสูง สามารถช่วยลดความดันตัวบนได้เฉลี่ยแล้ว 4.17 mmHg และช่วยลดความดันตัวล่างได้เฉลี่ยแล้ว 3.62 mmHg โดยงานวิจัยส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาฝึกอยู่ในช่วง 6-18 สัปดาห์

ผลการรีวิวงานวิจัยดังกล่าวยังพบอีกว่า การฝึกโยคะเมื่อครอบคลุมพื้นฐานสำคัญครบถ้วนทั้ง 3 อย่าง ซึ่งก็คือ การควบคุมลมหายใจ การฝึกสมาธิ และการกำหนดท่าทางให้ถูกต้อง ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะยิ่งดีขึ้น โดยจะสามารถช่วยลดความดันตัวบนได้เฉลี่ยแล้ว 8.17 mmHg และช่วยลดความดันตัวล่างได้เฉลี่ยแล้ว 6.14 mmHg

ในอีกด้านหนึ่ง การรำไทเก๊ก หรือที่หลายคนนิยมเรียกกันว่าการรำมวยจีน ก็ถือเป็นการออกกำลังกายอีกชนิดที่อาจช่วยลดความดันได้ด้วยเช่นกัน โดยมีผลการรีวิวงานวิจัยพบว่า สามารถช่วยลดความดันตัวบนได้เฉลี่ยแล้ว 15.55 mmHg และช่วยลดความดันตัวล่างได้เฉลี่ยแล้ว 10.66 mmHg

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในด้านการรำไทเก๊กเหล่านี้ยังมีจุดอ่อนในด้านคุณภาพ อีกทั้งมีรายละเอียดและระยะเวลาการฝึกที่ค่อนข้างต่างกัน จึงยังจำเป็นต้องอาศัยงานวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพและรายละเอียดการฝึกที่แนะนำได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

6. จัดการความเครียด

มีงานวิจัยพบว่า ความเครียดเรื้อรังอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะเมื่อเราเครียด แทบทุกระบบของร่างกายเราก็ล้วนได้รับผลกระทบไปหมด

แม้จะยังมีข้อจำกัดในด้านคุณภาพงานวิจัย แต่ข้อมูลปัจจุบันก็ได้พบหลายวิธีในการจัดการความเครียด ที่อาจสามารถช่วยลดความดันได้ ตัวอย่างเช่น

  • ฝึกสมาธิ – งานวิจัยพบว่าช่วยลดความดันตัวบนได้เฉลี่ยแล้ว 5 mmHg และช่วยลดความดันตัวล่างได้เฉลี่ยแล้ว 3 mmHg
  • ฝึกสติ – งานวิจัยพบว่าช่วยลดความดันตัวบนได้เฉลี่ยแล้ว 5.9 mmHg และช่วยลดความดันตัวล่างได้เฉลี่ยแล้ว 1.4 mmHg
  • ฟังดนตรีคลาสสิกหรือดนตรีที่ช่วยผ่อนคลาย – งานวิจัยพบว่าช่วยลดความดันตัวบนได้เฉลี่ยแล้ว 10 mmHg และช่วยลดความดันตัวล่างได้เฉลี่ยแล้ว 6 mmHg

นอกจากวิธีเหล่านี้แล้ว การนอนหลับให้เพียงพอ พบปะเพื่อนฝูง ทำกิจกรรมผ่อนคลาย ฯลฯ ก็สามารถช่วยลดความเครียดได้ ซึ่งก็อาจส่งผลดีต่อความดันได้ด้วยเช่นกัน หรือในผู้ที่มีปัญหาเครียดรุนแรง การเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ ก็ถือเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา

7. นอนหลับให้เพียงพอ

อ้างอิงจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) ผู้ใหญ่ทั่วไปควรนอนหลับอย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง ซึ่งการนอนหลับไม่เพียงพอนั้นจะส่งผลกระทบต่อความดันทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้

  • โดยปกติแล้ว เวลาที่เราหลับ หัวใจของเราจะเต้นช้าลง และความดันก็จะลดลง การนอนหลับไม่เพียงพอ จึงหมายความว่าหัวใจและหลอดเลือดของเรา จะมีช่วงเวลาพักที่ลดน้อยลงนั่นเอง
  • ข้อมูลงานวิจัยในปัจจุบันค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า การนอนหลับไม่เพียงพอจะมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง
  • การนอนหลับไม่เพียงพอยังมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้ต่างก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูงทั้งคู่
  • นอกจากนี้แล้ว การนอนหลับไม่เพียงพอยังมีผลทำให้เราเครียดง่ายขึ้นอีกด้วย ซึ่งความเครียดก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ความดันสูงขึ้นได้เช่นกัน

นอกจากจำนวนชั่วโมงการนอนหลับแล้ว คุณภาพการนอนนั้นก็สำคัญ ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีปัญหาตื่นกลางดึก หรือมีปัญหาอื่นที่ทำให้นอนหลับไม่สนิท ก็ควรหาทางจัดการเพื่อให้สามารถนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น

8. เลิกบุหรี่

การสูบบุหรี่มีผลทำให้ความดันเพิ่มขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผ่านกลไกกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ร่วมกับทำให้หลอดเลือดอักเสบเสียหายและตีบแคบลง

ด้วยเหตุนี้ ผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการลดความดันจึงควรพิจารณาเลิกบุหรี่ ซึ่งการเลิกบุหรี่นั้นก็ยังส่งผลดีในด้านอื่นๆ อีกด้วย เช่น ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด และช่วยให้ปอดทำงานดีขึ้น

สำหรับผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันบุหรี่จากคนใกล้ตัว หรือที่เรานิยมเรียกกันว่าผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง ก็จะได้รับผลเสียจากบุหรี่เช่นเดียวกัน ซึ่งในกรณีนี้ ทางออกที่แนะนำก็คือให้พยายามหลีกเลี่ยง ไม่อยู่ใกล้ผู้สูบในขณะที่สูบบุหรี่ หรือไม่ก็พยายามให้เลิกบุหรี่ ซึ่งแม้จะยากกว่า แต่ก็จะเป็นผลดีต่อตัวผู้สูบเองด้วย

ผู้ที่ต้องการขอคำปรึกษาในการเลิกบุหรี่ ก็สามารถโทรติดต่อได้ที่สายเลิกบุหรี่ 1600 ของศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) หรืออาจเลือกที่จะขอคำปรึกษาจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องก็ได้เช่นกัน

9. จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้ความดันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ได้ประมาณการไว้ว่า ทุกๆ แอลกอฮอล์ 10 กรัมที่เราดื่ม จะมีผลทำให้ความดันเพิ่มขึ้น 1 mmHg (เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขนาด 1 แก้วมาตรฐาน ได้แก่ เบียร์ 355 มิลลิลิตร ไวน์ 148 มิลลิลิตร หรือเหล้า 44 มิลลิลิตร โดยทั่วไปแล้ว จะมีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ที่ 14 กรัม)

สำหรับเกณฑ์ปริมาณที่แนะนำสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ก็จะอยู่ที่ไม่เกิน 1 แก้วมาตรฐานต่อวันสำหรับผู้หญิง และไม่เกิน 2 แก้วมาตรฐานต่อวันสำหรับผู้ชาย

10. จำกัดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ฯลฯ ก็สามารถทำให้ความดันเพิ่มสูงขึ้นได้เช่นกัน แม้จะแค่ชั่วคราวก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มจำพวกนี้มากเกินไป จึงควรพิจารณาจำกัดปริมาณให้น้อยลง

อ้างอิงจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA) คนทั่วไปที่มีสุขภาพดีควรได้รับคาเฟอีนไม่เกินวันละ 400 มิลลิกรัม ซึ่งเทียบเป็นกาแฟได้ประมาณ 4 แก้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแต่ละคนนั้นจะทนต่อคาเฟอีนได้ต่างกัน ผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองไวต่อคาเฟอีนเป็นพิเศษ จึงอาจพิจารณาจำกัดปริมาณให้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวันแทน

ทั้งนี้ ในผู้ที่ได้รับคาเฟอีนปริมาณมากเป็นประจำ การหยุดแบบหักดิบก็อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ได้ เช่น ปวดหัว ง่วงนอน อ่อนเพลีย ฯลฯ ทางที่ดี คนกลุ่มนี้จึงควรค่อยๆ ลดปริมาณลงทีละน้อยแทนการหักดิบ

การดูแลความดันในทัศนะการแพทย์จีน

การแพทย์จีนนิยมใช้วิธีบำบัดแบบองค์รวมและปรับสมดุลร่างกาย ผ่านตำรับยาที่สกัดจากพืชสมุนไพรธรรมชาติหลายชนิด เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาความดันสูงที่ต้นเหตุ ซึ่งก็จะมีหลักการทำงานดังนี้

  • ทำความสะอาดหลอดเลือด สลายลิ่มเลือดและไขมัน ทำให้หลอดเลือดโล่งสะอาด จึงช่วยป้องกันและบำบัดโรคที่พบบ่อยในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ
  • บำรุงไต ให้หยิน-หยางในไตเกิดความสมดุล ไตจึงสามารถส่งหยินไปหล่อเลี้ยงตับได้อย่างเพียงพอ ช่วยป้องกันไม่ให้ตับร้อนรุ่มจนเกินไป ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของความดันสูง เมื่อตับอยู่ในสภาวะสมดุลก็จะมีการสร้างคอเลสเตอรอลในปริมาณที่เหมาะสม และในขณะเดียวกันเมื่อไตแข็งแรงขึ้น พลังชี่ที่เป็นแรงผลักดันของเลือดก็จะสมบูรณ์ขึ้น ระบบการไหลเวียนของเลือดจึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ท่านที่สนใจดูแลความดันและสุขภาพหลอดเลือดตามทัศนะการแพทย์จีน ก็สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์แผนจีนและผู้เชี่ยวชาญได้ที่ไอดีไลน์ @enwei

จบแล้วกับคำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับวิธีลดความดันสูงแบบธรรมชาติด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องกินยา ทางเอินเวย์หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ

เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์จีน เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดี

ปรึกษาแพทย์จีน
ปรึกษาแพทย์จีน
Scroll to Top