ถึงแม้ว่าอาการปวดแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่โดยเฉพาะที่มีอาการเรื้อรังนั้นอาจเกิดจากโรคภายในช่องท้องหลายอย่างก็ตามแต่โรคกระเพาะอาหารจะเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้ยาแอสไพรินและยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ เช่น ยาแก้ปวดข้อปวดกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวดประจำเดือน ยาแก้ไมเกรนเป็นต้น รวมทั้งผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือมีความเครียดทางร่างกายและจิตใจ โรคกระเพาะอาหารสามารถแบ่งออกได้เป็นโรคกระเพาะอาหารที่ไม่มีแผล และ โรคแผลในกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะอาหารที่ไม่มีแผล
โรคกระเพาะอาหารที่ไม่มีแผลหรือโรคกระเพาะอาหารอักเสบนั้นหมายถึงการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหารซึ่งมีอาการสำคัญได้แก่ ปวดจุก แน่นใต้ลิ้นปี่ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอบ่อย บางรายอาจมีอาการท้องเดินร่วมด้วย อาการมักจะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังมาเป็นเวลานาน แต่บางรายอาจไม่มีอาการแสดงจนกว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร (อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำ) โลหิตจาง เป็นต้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ใช้ยาแอสไพรินและยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ ทั้งนี้ เนื่องจากยากลุ่มนี้นอกจากไปทำลายกลไกการต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้แล้ว ยังไปลดอาการปวดในขณะที่ยากำลังกัดกระเพาะอาหารอยู่ ทำให้อาการปวดท้องซึ่งเป็นอาการเตือนถูกบดบังไป
โรคกระเพาะอาหารที่ไม่มีแผลหากปล่อยไว้เรื้อรังอาจกลายเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารในที่สุด
โรคแผลในกระเพาะอาหาร
โรคแผลในกระเพาะอาหารหรือแผลเพ็ปติกนั้นหมายถึงแผลที่เกิดบนเยื่อบุกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งมีอาการสำคัญได้แก่ ปวดท้องเรื้อรังตรงบริเวณกลางยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่เวลาปวดมักจะสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น ก่อนหรือหลังอาหาร เป็นต้น ลักษณะการปวดอาจปวดแสบ ปวดตื้อ จุกเสียดหรือมีความรู้สึกหิวข้าวก่อนเวลาอาหาร บางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนหรือเรอเปรี้ยวร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ตาม อาการของโรคแผลในกระเพาะอาหารจะไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค บางรายอาจปวดท้องมากแต่ไม่มีแผลเลยก็ได้ แต่บางรายไม่มีอาการปวดท้องกลับมีแผลใหญ่มากในกระเพาะอาหารหรือเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นแผลจากยาแอสไพรินและยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์จะมีประมาณ 50% ไม่แสดงอาการ
โรคแผลในกระเพาะอาหารหากปล่อยไว้เรื้อรังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น ภาวะโลหิตจาง กระเพาะอาหารหรือลำไส้อุดตันกระเพาะอาหารทะลุทำให้ช่องท้องหรือตับอ่อนอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น
โรคกระเพาะอาหารเกิดจากสาเหตุอะไร
- ยารักษาโรคบางชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแอสไพรินและยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์
- ติดเชื้อแบคทีเรียเอช.ไพโลไร ( pylori) ในกระเพาะอาหาร
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออโตอิมมูน (autoimmune) หรือปฏิกิริยาภูมิต้านทานตัวเอง
- ความเครียดทางร่างกายและจิตใจ
- ปัจจัยอื่น ๆ เช่น พันธุกรรม การสูบบุหรี่ อาหารรสจัด เครื่องดื่มคาเฟอีน ทานข้าวไม่ตรงเวลา พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น
สาเหตุดังกล่าวอาจทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดมากเกินไปหรือเยื่อบุกระเพาะอาหารมีความต้านทานต่อกรดลดลงและกระเพาะอาหารมีการบีบตัวลดลงทำให้อาหารคั่งค้างอยู่ในกระเพาะนานเกินไปจึงก่อให้เกิดการบาดเจ็บของเยื่อบุกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะอาหารในทัศนะการแพทย์จีน
การแพทย์จีนได้จัดโรคกระเพาะอาหารให้อยู่ในกลุ่มโรคที่เกิดจากพลังชี่ของกระเพาะอาหารไหลเวียนผิดปกติ (胃失和降) ร่วมกับภาวะพิษร้อน-ชื้นในกระเพาะอาหาร (郁热内蕴)
พลังชี่ของกระเพาะอาหารไหลเวียนผิดปกติ
โดยปกติแล้วพลังชี่ของกระเพาะอาหารจะต้องไหลเวียนลงสู่ด้านล่าง ช่วยผลักดันอาหารจากกระเพาะอาหารลงสู่ลำไส้เล็กเพื่อย่อยและดูดซึมต่อ และขับกากอาหารลงสู่ลำไส้ใหญ่เพื่อขับถ่ายออกจากร่างกาย กระเพาะอาหารจะได้มีที่ว่างรองรับอาหารใหม่ หากพลังชี่ของกระเพาะอาหารไหลเวียนลงสู่ด้านล่างไม่ดีเท่าที่ควรก็จะทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารลดลง ส่งผลต่อกระบวนการย่อย ดูดซึมและลำเลียงอาหาร ทำให้ปวดแน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อคล้ายอาหารไม่ย่อย เรอบ่อย เบื่ออาหาร ปากขม หากปล่อยไว้เรื้อรัง พลังชี่ของกระเพาะอาหารจะไหลเวียนย้อนขึ้นสู่ด้านบนทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน
ภาวะพิษร้อน-ชื้นในกระเพาะอาหาร
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของกระเพาะอาหาร อีกทั้งยังเป็นสภาวะที่เอื้อต่อการรุกรานและการแพร่พันธุ์ของเชื้อแบคทีเรียด้วย ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารมีความต้านทานต่อกรดลดลง กระเพาะอาหารจึงเกิดการอักเสบหรือเป็นแผลเรื้อรังได้
การแพทย์จีนมีวิธีบำบัดอย่างไร
การแพทย์จีนนิยมใช้สมุนไพรที่มีสรรพคุณในการปรับพลังชี่ของกระเพาะอาหารให้ไหลเวียนลงสู่ด้านล่างและขจัดภาวะพิษร้อน-ชื้นในกระเพาะอาหาร เพื่อบำบัดต้นเหตุของโรคกระเพาะอาหาร จากการวิจัยและทดลองทางการแพทย์และเภสัชวิทยาในปัจจุบันพบว่ายาสมุนไพรจีนที่อยู่ในรูปแบบสารสกัดเป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากสามารถสกัดและควบคุมสารออกฤทธิ์ได้อย่างเข้มข้นและแม่นยำ โดยมีกลไกการออกฤทธิ์สำคัญดังนี้
- สามารถดูดซับและลดความตื่นตัวของน้ำย่อยเปปซิน (Pepsin)จึงปกป้องเยื่อบุกระเพาะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- กระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงบำบัดอาการปวดแน่นท้องและอาหารไม่ย่อยได้อย่างเด่นชัด
- เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของทางเดินอาหาร จึงยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและลดอาการอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต สลายเลือดคั่ง ทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตขนาดเล็กในกระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เยื่อบุกระเพาะอาหารที่อักเสบหรือเป็นแผลจึงได้รับการฟื้นฟูและสมานแผลได้เร็วขึ้น
อาการปวดท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ เรอเปรี้ยว อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียนและอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากโรคกระเพาะอาหารจึงค่อย ๆ ทุเลาลงหรืออาจหายไปในที่สุด
ที่สำคัญคือวิธีการบำบัดนี้ยังเหมาะกับผู้ที่ต้องใช้ยาแอสไพรินและยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์เป็นประจำหรือผู้ที่เคยเป็นแผลในกระเพาะอาหารเพื่อป้องกันและลดระดับความรุนแรงของโรคกระเพาะอาหาร