หน้าแรก  »  บทความสุขภาพ  »  วิธีดูแลผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ให้ฟื้นฟูดี ไม่กลับมาเป็นซ้ำ

วิธีดูแลผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ให้ฟื้นฟูดี ไม่กลับมาเป็นซ้ำ

วิธีดูแลผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ให้ฟื้นฟูดี ไม่กลับมาเป็นซ้ำ

โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก (Stroke) นับเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและความพิการอันดับต้นๆ ของไทย ผู้ที่รอดชีวิตจากโรคนี้ส่วนใหญ่ต่างก็ต้องเผชิญกับช่วงเวลาของการพักฟื้นที่ยากลำบาก ทั้งยังมีความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำค่อนข้างสูง

การดูแลผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก อย่างเหมาะสม จะมีความสำคัญทั้งในแง่ของการฟื้นฟูและการลดความเสี่ยงในการเป็นซ้ำ ซึ่งท่านใดที่ต้องการทราบแนวทางวิธีการในจุดนี้ เอินเวย์ ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์สมุนไพรจีนสมัยใหม่ ก็ขออาสานำข้อมูลมาให้ชมกันแบบง่ายๆ เองค่ะ

ผลของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก

โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสมองและระบบประสาท ผู้ที่รอดชีวิตจากโรคนี้จึงมักจะมีอาการผิดปกติต่างๆ อย่างเช่น

  • เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • รู้สึกเจ็บ ชา แสบร้อน หรือรู้สึกถึงสัมผัสแปลกๆ ตามร่างกาย
  • รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
  • มีปัญหาการขับถ่าย
  • มีปัญหาการพูดหรือการเข้าใจภาษา
  • มีปัญหาการกลืน
  • มีปัญหาความจำ สมาธิ หรือการนึกคิด
  • มีปัญหาการมองเห็น
  • มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน หรือมีปัญหาอื่นๆ ในด้านอารมณ์

อาการผิดปกติเหล่านี้อาจฟื้นฟูได้อย่างสมบูรณ์หรือหลงเหลืออยู่อย่างถาวร ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค สภาวะสุขภาพ และการบำบัดฟื้นฟูของผู้ป่วยแต่ละคน

แนวทางการบำบัดฟื้นฟู

เป้าหมายระยะยาวของการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ก็คือการทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาพึ่งพาตนเองได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยอาจจะต้องอาศัยการบำบัดฟื้นฟูในรูปแบบต่างๆ ตามแต่อาการผิดปกติของผู้ป่วย ตัวอย่างเช่น

  • อรรถบำบัด (Speech Therapy) เพื่อช่วยแก้ปัญหาการพูดและการเข้าใจภาษา
  • กายภาพบำบัด (Physical Therapy) เพื่อช่วยแก้ปัญหาการเคลื่อนไหวและการทำงานประสานกันของร่างกาย
  • กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้เป็นปกติยิ่งขึ้น อย่างเช่น กิน ดื่ม อาบน้ำ แต่งตัว อ่าน เขียน ฯลฯ

โอกาสในการฟื้นฟูจากโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก

ตัวอย่างข้อมูลสถิติการฟื้นฟูจากโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก อ้างอิงจากสมาคมโรคหลอดเลือดสมองแห่งสหรัฐอเมริกา ก็ได้แก่

  • 10% จะฟื้นฟูร่างกายได้อย่างสมบูรณ์
  • 25% จะมีความบกพร่องของร่างกายหลงเหลืออยู่เล็กน้อย
  • 40% จะมีความบกพร่องของร่างกายในระดับปานกลางถึงรุนแรง ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
  • 10% จะต้องได้รับการดูแลระยะยาวในสถานดูแลฟื้นฟู
  • 15% จะเสียชีวิตในช่วงไม่นานหลังเกิดโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก

วิธีดูแลผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก

สำหรับแนวทางวิธีดูแลผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ที่เหมาะสม ก็จะมีรายละเอียดดังนี้

  1. ปรึกษาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ผู้ดูแล ถึงแนวทางการบำบัดฟื้นฟูที่เหมาะสม รวมถึงในกรณีที่มีข้อสงสัยต่างๆ เนื่องจากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่รู้ข้อมูลของผู้ป่วยครบถ้วนมากที่สุด
  2. ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสม ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาและอาหารอย่างเหมาะสม และพาผู้ป่วยไปพบแพทย์และรับการบำบัดตามนัด สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการฟื้นฟูของผู้ป่วย
  3. หมั่นเฝ้าระวังอาการผิดปกติ ในช่วงของการฟื้นฟู ผู้ป่วยอาจเกิดอาการผิดปกติอื่นๆ เพิ่มเติมได้อีก ไม่ว่าจะเป็นอาการทางกาย อย่างเช่น อาการชา ร่างกายเคลื่อนไหวประสานกันผิดปกติ ฯลฯ หรืออาการทางสมองและจิตใจ อย่างเช่น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล มีปัญหาความจำ ฯลฯ หรือในบางกรณีก็อาจเกิดผลข้างเคียงจากยาที่ใช้ ซึ่งผู้ดูแลก็ควรหมั่นสังเกตและติดต่อแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาตามความเหมาะสม
  4. ปรับแต่งบ้านและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก หลายคนจะมีความเสี่ยงต่อการหกล้มสูง เนื่องด้วยความผิดปกติในด้านการเคลื่อนไหวและการทำงานประสานกันของร่างกาย การปรับแต่งบ้านและสภาพแวดล้อมใกล้ตัวให้เหมาะสม อย่างเช่น ติดตั้งราวจับ ใช้แผ่นรองพื้นกันลื่น กำจัดสิ่งกีดขวาง ฯลฯ จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้
  5. ส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก มักจะก่อให้เกิดข้อจำกัดในด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย การหมั่นออกกำลังกายโดยเริ่มทีละน้อยตามความเหมาะสมภายใต้คำแนะนำของแพทย์และนักกายภาพบำบัด จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหานี้ได้
  6. ใส่ใจดูแลสุขภาพจิตของผู้ป่วย โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก จะมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วยหลายๆ คน โดยส่วนหนึ่งจะเป็นผลมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมอง ทำให้สารเคมีหรือการทำงานของสมองเปลี่ยนแปลงไป แต่อีกส่วนก็จะเกิดจากการตอบสนองของผู้ป่วยที่มีต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ดูแลก็ควรพยายามเข้าใจและอดทนกับผู้ป่วย และควรปรึกษาแพทย์ถึงแนวทางการรับมือที่เหมาะสม
  7. คอยดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย แต่ไม่ให้มากจนเกินไป แม้ผู้ดูแลมักจะอยากช่วยทำสิ่งต่างๆ แทนผู้ป่วย แต่การส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นทีละน้อย ก็นับเป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและความรู้สึกที่ดีต่อตนเองให้แก่ตัวผู้ป่วยได้
  8. ใส่ใจป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ข้อมูลงานวิจัยพบว่าประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก จะกลับมาเป็นซ้ำภายใน 5 ปี การใส่ใจดูแลควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น ปรับอาหารการกิน ดูแลความดัน ดูแลไขมันในเลือด ดูแลน้ำตาลในเลือด งดสูบบุหรี่ ฯลฯ จึงนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก
  9. ดูแลสุขภาพจิตของตนเอง โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ไม่ได้มีผลกระทบต่อผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อผู้ดูแลด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในด้านสุขภาพจิต ทางที่ดี ผู้ดูแลจึงควรหมั่นใส่ใจดูแลสุขภาพจิตของตนเอง และหากจำเป็นก็อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
  10. เชื่อมั่นในการฟื้นฟู การฟื้นฟูอาจไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน และอาจไม่ได้ราบรื่นเหมือนอย่างที่หวัง แต่ก็อย่าละทิ้งความพยายาม ผู้ดูแลและผู้ป่วยควรใช้ทุกๆ ความคืบหน้าของการฟื้นฟู ให้เป็นกำลังใจสำหรับการก้าวเดินต่อไป

จบแล้วกับแนวทางวิธีดูแลผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก ให้ฟื้นฟูดี ลดความเสี่ยงในการเป็นซ้ำ พร้อมด้วยข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางเอินเวย์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ

เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์จีน เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดี

YouTube player
ปรึกษาแพทย์จีน
ปรึกษาแพทย์จีน
Scroll to Top