เส้นผมบนศีรษะของคนเรามีประมาณ 1 แสนเส้น การงอกของเส้นผมต่างจากเล็บเพราะผมไม่ได้งอกตลอดเวลา แต่มีวงจรในการเจริญเติบโตโดยแบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้
- ระยะการเจริญเติบโต ในระยะนี้ต่อมรากผมอยู่ลึกที่สุดในชั้นหนังแท้และมีหลอดเลือดมาหล่อเลี้ยงมาก จะงอกยาวขึ้นประมาณ 1 ซม. ต่อเดือน ติดต่อกันประมาณ 2-6 ปี ประมาณ 90% ของเส้นผมอยู่ในระยะการเจริญเติบโต
- ระยะพัก เมื่อถึงสุดระยะการเจริญเติบโตแล้ว เส้นผมก็จะเข้าสู่ระยะพักซึ่งเป็นช่วงสั้นๆ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ต่อมรากผมจะเลื่อนสูงขึ้นไปและแยกตัวออกจากหลอดเลือดที่มาหล่อเลี้ยง ประมาณ 1% ของเส้นผมอยู่ในระยะพัก
- ระยะหยุดการเจริญเติบโต เส้นผมจะเข้าสู่ระยะสุดท้าย ซึ่งจะหยุดการเจริญเติบโตและต่อมรากผมเลื่อนตัวขึ้นไป ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนและจะถูกเส้นผมที่งอกขึ้นมาใหม่ดันให้หลุดไป ประมาณ 10-15% ของเส้นผมอยู่ในระยะหยุดการเจริญเติบโต
ดังนั้น การที่มีผมร่วงวันละ 10-50 เส้นนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ การหวีผมหรือสระผมจะทำให้เส้นผมที่อยู่ในระยะสุดท้ายหลุดร่วงง่ายขึ้น ส่วนเส้นผมที่งอกขึ้นมาจากหนังศีรษะนั้นเป็นเซลล์ที่ตายแล้ว ซึ่งประกอบด้วยโปรตีนเป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่ต่อมรากผมเป็นเซลล์ที่มีชีวิตและเปรียบเสมือนโรงงานผลิตเส้นผม ดังนั้นถ้าต่อมรากผมไม่แข็งแรงหรือถูกทำลาย เส้นผมก็จะไม่งอกหรืองอกผิดปกติได้
- ต่อมรากผม (Hair Follicle) ซึ่งเป็นซอกลึกจากหนังกำพร้าเข้าไปในชั้นหนังแท้ ต่อมรากผมเป็นที่อยู่ของโคนผม ถ้าไม่มีต่อมรากผมก็จะไม่มีเส้นผม
- โคนผมหรือกระเปาะผม (Hair Bulb) ซึ่งอยู่บริเวณต่ำสุดของต่อมรากผมและโป่งออกเป็นกระเปาะ ประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ Matrix อีกทั้งยังมีเซลล์สร้างเม็ดสีแทรกอยู่ด้วย
- ปุ่มเลี้ยงรากผม (Hair Papilla) ซึ่งเป็นปุ่มเล็กๆ ของหนังแท้ที่งอกขึ้นมา อยู่ด้านล่างสุดของต่อมรากผม และเต็มไปด้วยหลอดเลือดที่มาหล่อเลี้ยงเส้นผม ปุ่มเลี้ยงรากผมจึงเปรียบเสมือนเป็นท่อน้ำเลี้ยงของโรงงานผลิตเส้นผม
- กลุ่มเซลล์ Matrix ซึ่งเป็นกลุ่มเซลล์ที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างเส้นผมขึ้นมาเรื่อยๆ จึงเปรียบเสมือนเป็นโรงงานผลิตเส้นผม
- กล้ามเนื้อชันขน (Arrector Pili Muscle) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ที่คอยทำให้เราขนลุก
- ต่อมไขมัน ซึ่งจะอยู่รอบๆ ต่อมรากผม อาจมีจำนวน 1-6 ต่อมด้วยกันและจะคัดหลั่งน้ำมันออกมายังหนังศีรษะ น้ำมันเหล่านี้ก็จะเคลือบอยู่บนเส้นผม ส่วนจำนวนมากน้อยของต่อมไขมันในแต่ละคน ทำให้เราสามารถแบ่งสภาพเส้นผมให้ออกมาเป็นผมแห้ง ผมมันและผมธรรมดา
อย่างไรจึงเรียกว่าผมร่วงผิดปกติ
การตอบคำถามดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณวินิจฉัยว่าตนเองมีอาการผมร่วงผิดปกติหรือไม่
- ผมร่วงมากกว่า 50 เส้นต่อวันติดต่อกันนานกว่า 2 เดือน
- ผมบางลงและ/หรือผมเส้นเล็กลง
- ศีรษะเถิก ไรผมขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ
- พ่อ แม่หรือปู่ ย่า ตา ยายมีประวัติผมร่วง ผมบาง
หากคุณตอบว่าใช่มากกว่า 1 ข้อ แสดงว่าคุณกำลังเผชิญกับปัญหาผมร่วงผิดปกติ ถึงเวลาแล้วที่คุณควรรีบหันมาใส่ใจดูแลเส้นผมอย่างจริงจัง ก่อนที่ต่อมรากผมถูกทำลายอย่างถาวร
ประเภทของผมร่วงจะจำแนกอย่างไร
เราอาจแบ่งประเภทของผมร่วงออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ ผมร่วงแบบมีแผลเป็นและผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น ส่วนผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น เรายังอาจแบ่งย่อยลงไปได้เป็นกลุ่มต่างๆ อาทิ
- ผมร่วงกรรมพันธุ์
- ผมร่วงหลังคลอดบุตร
- ผมร่วงจากโรคต่าง ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย ซิฟิลิส โรคโลหิตจาง การเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นต้น
- ผมร่วงจากความเครียดทางร่างกายและจิตใจ เช่น หลังการผ่าตัด การมีไข้สูง การลดน้ำหนักมากในระยะเวลาอันสั้น ตกใจ เสียใจและเศร้าใจ เป็นต้น
- ผมร่วงจากการใช้ยา เช่น ยารักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ ยากันชัก ยาลดการแข็งตัวของเลือด ยาโรคหัวใจบางชนิด ยาคุมกำเนิด คอลซิซีนที่ใช้รักษาโรคเกาต์ ยารักษาโรคมะเร็ง วิตามินเอขนาดสูง เป็นต้น
- ผมร่วงจากการดูแลเส้นผมไม่ถูกวิธี เช่น การใช้ยาดัดผม ยาย้อมผม ยาโกรกผม ยากัดสีผมมากเกินไป การใช้ความร้อนเป่าผมบ่อยๆ เป็นต้น
สำหรับบทความนี้เราจะอธิบายเฉพาะ ผมร่วงกรรมพันธุ์และผมร่วงเป็นหย่อมเป็นหลัก เนื่องจากเป็นสาเหตุผมร่วงที่พบบ่อยมากที่สุด
อย่างไรถึงเรียกว่าผมร่วงกรรมพันธุ์
ผมร่วงกรรมพันธุ์พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้ป่วยมักจะมีพ่อแม่พี่น้องที่มีอาการผมบาง ศีรษะเถิกหรือศีรษะล้านเช่นเดียวกัน แต่บางครั้งก็พบว่าไม่มีบุคคลอื่นๆ ในครอบครัวผมบางเลยก็ได้ ซึ่งเชื่อว่าพ่อหรือแม่หรือบรรพบุรุษของพ่อแม่อาจมีกรรมพันธุ์อยู่โดยไม่แสดงอาการ แต่มีการถ่ายทอดมายังลูก ผมร่วงกรรมพันธุ์ทำให้ต่อมรากผมในบริเวณผมบาง มีความไวต่อฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (Androgen) มากกว่าในบริเวณผมปกติ ส่งผลให้ต่อมรากผมฝ่อตัวลง เส้นผมจึงมีอายุสั้นกว่าปกติและร่วงเร็วกว่า อีกทั้งเส้นผมที่เกิดขึ้นใหม่จะมีขนาดเล็กลง บางลงและสั้นลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นเส้นขนอ่อนๆ ทำให้บริเวณนั้นแลดูผมบางหรือไม่มีผม ส่วนตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุดคือ บริเวณหน้าผากและตรงกลางศีรษะ
ผมร่วงกรรมพันธุ์มักแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในผู้ชาย ถ้าเป็นไม่มาก ผมจะบางลงเฉพาะบริเวณหน้าผาก กลายเป็นศีรษะเถิก มีรูปร่างเหมือนตัวอักษร M ถ้าเป็นมากจะทำให้ศีรษะล้าน ส่วนผู้หญิงมักจะเริ่มแสดงอาการหลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน มักจะร่วงทั่วๆ ไป โดยเฉพาะตรงกลางกระหม่อม ทำให้ผมดูบางลง
ผมร่วงกรรมพันธุ์อาจเกิดร่วมกับหนังศีรษะมันและการมีรังแค ส่งผลให้มีอาการคันศีรษะและมีขี้รังแคมาก
ผมร่วงเป็นหย่อมมีลักษณะอย่างไร
ผมจะแหว่งหายไปเป็นหย่อมๆ ซึ่งมีลักษณะกลมหรือรี ขอบเขตชัดเจนตรงกลางไม่มีเส้นผม แต่จะเห็นเป็นรูขุมขนหนังศีรษะในบริเวณนั้นปกติทุกอย่าง ไม่แดง ไม่เจ็บ ไม่คัน ไม่เป็นเกล็ดหรือเป็นขุย อาจมีผมร่วงเพียง 1-2 หย่อมจนถึงมากกว่า 10 หย่อม หรืออาจลุกลามทั่วศีรษะ จนไม่มีเส้นผมเหลืออยู่เลยแม้แต่เส้นเดียว บางรายอาจมีอาการคิ้ว หนวด เครา ขนตาและขนตามร่างกายร่วงด้วย ผู้ป่วยผมร่วงเป็นหย่อมมักจะมีอาการปวดหลังปวดเอว วิงเวียนศีรษะ นอนไม่หลับ บางครั้งอาจพบร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น ต่อมไทรอยด์อักเสบ โรคแอดดิสัน โรคด่างขาว โรคภูมิแพ้ (ลมพิษ ผื่นคัน หวัดจากการแพ้ หืด ฯลฯ) เป็นต้น ถึงแม้ว่าความเครียดไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงของผมร่วงเป็นหย่อม แต่เป็นเหตุนำของโรคได้
การแพทย์จีนมีวิธีแก้ผมร่วงอย่างไร
ในทัศนะการแพทย์จีน สภาพของเส้นผมมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสารจิง (精: เป็นวัตถุพื้นฐานในการดำรงชีวิตซึ่งเก็บสะสมอยู่ในไต) และเลือด (血: ซึ่งเก็บสะสมอยู่ในตับ)
สุภาษิตการแพทย์จีน เส้นผมเป็นราศีของไต (肾者,其华在发: ความสมบูรณ์ของไตแสดงออกที่เส้นผม) เส้นผมเป็นส่วนปลายของเลือด (发为血之余: หากเลือดในร่างกายเพียงพอก็จะหล่อเลี้ยงเส้นผมได้เต็มที่)
ความสัมพันธ์ของสารจิงและเลือดที่ต้องพึ่งพาอาศัย ส่งผลกระทบและแปรเปลี่ยน เพื่อชดเชยการพร่องลงซึ่งกันและกัน ดังนั้นไม่ว่าการพร่องลงของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ล้วนส่งผลกระทบต่อกระบวนการโภชนาหารของต่อมรากผม ที่ต้องอาศัยสารจิงและเลือดไปหล่อเลี้ยง การแพทย์จีนจึงนิยมใช้วิธีบำรุงเสริมสร้างสารจิงและเลือดไปพร้อมๆ กัน เพื่อหยุดยั้งการหลุดร่วงของเส้นผม
จากการวิจัยและทดลองทางการแพทย์และเภสัชวิทยาในปัจจุบันพบว่า ยาสมุนไพรจีนที่อยู่ในรูปแบบของสารสกัดเป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด เนื่องจากสามารถสกัดและควบคุมสารออกฤทธิ์ได้อย่างเข้มข้นและแม่นยำ
เส้นผมสลวย เงางาม หนาแน่น แข็งแรง อาการผมร่วง ผมบาง ผมร่วงเป็นหย่อมๆ หนังศีรษะมัน รังแคมากและอาการคันศีรษะ จึงค่อยๆ ทุเลาลงและอาจหายไปในที่สุด