ข้อเข่าเสื่อมเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของอาการปวดข้อในคนที่อายุมากกว่า 40 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน นอกจากนี้ คนที่อ้วนหรือทำงานหนัก เช่น แบกของ ยืน วิ่งหรือเดินมากๆ อาจทำให้ข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควร เนื่องจากผิวข้อมีการเสียดสีกันมากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดการสึกกร่อนได้ง่ายขึ้น
ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมอาจมีภาวะเสื่อมของข้อหลายๆ แห่งพร้อมกัน โดยเฉพาะในข้อที่ต้องแบกรับน้ำหนักมาก เช่น ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลัง กระดูกคอ ข้อนิ้วมือ เป็นต้น แต่ผู้ป่วยมักจะมีอาการแสดงเพียง 1-2 ข้อเท่านั้น
ข้อเข่าเสื่อมเกิดจากสาเหตุอะไร
ผิวของข้อเข่ามีกระดูกอ่อนผิวเรียบปกคลุมอยู่ ทำหน้าที่เสมือนโช้คอัพรองรับและกระจายน้ำหนัก ภายในข้อเข่ามีน้ำไขข้อหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อรอบเข่า เพื่อป้องกันการสึกกร่อนของข้อเข่า เมื่ออายุมากขึ้นหรือรับน้ำหนักมากเกินไปหรือมีการบาดเจ็บ กระดูกอ่อนตรงผิวข้อเข่าจะค่อยๆ สึกกร่อน มีกระดูกงอก (หินปูนเกาะ) ขรุขระและมีการสูญเสียน้ำไขข้อในข้อเข่า ทำให้ข้อเข่าเกิดเสียงดังในข้อและมีอาการปวดขัดเมื่อมีการเคลื่อนไหว หากข้อเข่าที่เสื่อมมีการอักเสบก็จะมีการสร้างน้ำไขข้อในข้อเข่าเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการบวม ตึงและปวดของข้อเข่า เมื่อข้อเข่าเสื่อมมากขึ้นจะมีอาการโก่งงอ ทำให้เกิดอาการปวดเข่าทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว พร้อมทั้งทำให้ข้อเข่ามีขนาดใหญ่ขึ้น ในที่สุดผู้ป่วยต้องใช้ไม้เท้าช่วยหรือบางคนจะเดินน้อยลง ทำให้กล้ามเนื้อที่ขาลีบลง ข้อจะยึดติดเหมือนมีสนิมเกาะ เหยียดขาได้ไม่สุด
ข้อเข่าเสื่อมมีอาการอย่างไร
- เริ่มแรกจะมีอาการปวดเมื่อยเข่าหรือน่อง ถ้าเป็นมากขึ้นจะปวดขัดบริเวณเข่าเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือลุกนั่งหรือเดินขึ้นบันได และอาการปวดขัดจะเรื้อรัง
- บางครั้งอาจมีเสียงดังกรอบแกรบขณะเคลื่อนไหว
- มักจะปวดมาก เวลาเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่ายืน หรืออยู่ในท่างอเข่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานั่งคุกเข่า พับเพียบหรือขัดสมาธินานๆ หรือเดินขึ้นลงบันไดหรือยกของหนัก
- ข้อเข่ายึดติด ผู้ป่วยจะไม่สามารถเหยียดหรืองอขาได้สุดเหมือนเดิม
- อาการปวดข้อมักจะเป็นตอนกลางคืน หรือเวลาอากาศเปลี่ยนแปลงหรืออากาศเย็นชื้น
- ข้อที่ปวดมักจะไม่มีอาการบวม แดง ร้อน (ยกเว้นในกรณีเป็นมากอาจมีอาการบวมและมีน้ำขังอยู่ในข้อ)
ข้อเข่าเสื่อมอันตรายอย่างไร
ถึงแม้ว่าข้อเข่าเสื่อมจะสร้างความทรมานและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก แต่อันตรายของข้อเข่าเสื่อมใช่ว่าจะเกิดจากโรคที่เป็น หากเกิดจากการใช้ยาแก้ปวดและยาสเตอรอยด์เป็นประจำต่างหาก เนื่องจากพิษของยาจะส่งผลร้ายต่อร่างกายในหลายด้าน เช่น โรคกระเพาะอาหารทะลุ เลือดออกในกระเพาะอาหาร เป็นพิษต่อตับ ทำให้เซลล์ตับตาย ตับเสื่อมสภาพ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระดูกพรุน โรคคุชชิงหรือโรคติดเชื้อรุนแรง เป็นต้น
การแพทย์จีนมีวิธีบำบัดข้อเข่าเสื่อมอย่างไร
การแพทย์จีนได้จัดโรคข้อเข่าเสื่อม ให้อยู่ในกลุ่มโรคชาและปวดเมื่อย (痹症) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทำงานหนัก ความเสื่อมตามวัยหรือพิษเย็น-ชื้น (风寒湿邪) ที่สะสมบริเวณข้อเข่า ทำให้หลอดเลือดและเส้นลมปราณติดขัด ไปกีดขวางการไหลเวียนของโลหิตและพลังลมปราณจนเกิดอาการปวดขึ้นมา ซึ่งสอดคล้องกับหลักการวินิจฉัยและบำบัดอันสำคัญของการแพทย์จีนคือ ปวดแสดงว่าไม่โล่ง โล่งแล้วก็จะไม่ปวด (通则不痛,痛则不通) นอกจากนี้ การไหลเวียนของโลหิตและพลังลมปราณบริเวณข้อเข่าที่ติดขัด จะทำให้เส้นเอ็น กล้ามเนื้อและกระดูก ได้รับการหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ พร้อมทั้งไม่สามารถขับพิษเย็น-ชื้นที่สะสมและสารพิษต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเมตาบอลิซึมออกไปได้หมดสิ้น ส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่างๆ บริเวณข้อเข่า
การแพทย์จีนจึงนิยมใช้วิธีกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต สลายเลือดคั่งขับพิษและแก้ปวดบวม (活血化淤,清热消毒) เพื่อบำบัดต้นเหตุของโรคเข่าเสื่อม โดยมีกลไกการออกฤทธิ์สำคัญดังนี้
- กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต สลายเลือดคั่ง ทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตขนาดเล็ก (Microcirculation) บริเวณข้อเข่าทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อกระตุ้นการขับสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบและทำลายข้อ สารที่ก่อให้เกิดอาการปวด (เช่น สารเบต้าโปรตีน ไกลโคโปรตีนและฮิสตามิน เป็นต้น) รวมทั้งกรดแล็กติกที่สะสมอยู่ในบริเวณข้อเข่าออกไปให้มากขึ้น จึงสามารถลดการระคายเคืองเยื่อหุ้มข้อและบรรเทาอาการปวดบวมได้อย่างเด่นชัด
- การไหลเวียนของโลหิตขนาดเล็กบริเวณข้อเข่าที่ดีขึ้น จะทำให้เส้นเอ็น เส้นประสาทกล้ามเนื้อและกระดูก ได้รับการหล่อเลี้ยงได้มากขึ้น ข้อเข่าบริเวณที่เสื่อมสภาพ จึงได้รับการฟื้นฟูและซ่อมแซมได้เร็วขึ้นและมากขึ้น
- ปรับลดระดับความรุนแรงของปฏิกิริยาการตอบโต้จากระบบต่อมไร้ท่อเมื่อข้อเข่าอักเสบ จึงลดการสร้างและการหลั่งสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบและทำลายข้อ พร้อมทั้งลดการหดเกร็งของหลอดเลือดบริเวณที่บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรคข้อเข่าเสื่อมบำบัดไม่ยาก หากใส่ใจดูแลตนเองและเลือกใช้วิธีการบำบัดที่ต้นเหตุ อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม ตลอดจนโรคแทรกซ้อนต่างๆ จึงค่อยๆ ทุเลาลงหรืออาจหายไปในที่สุด