เนื่องจากเชื้อโควิด-19 สามารถอยู่รอดในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมงถึงหลายวัน ตามแต่สภาวะแวดล้อม การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในบ้านหรือห้องพักอย่างเหมาะสม จึงถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก สำหรับการป้องกันการแพร่ของเชื้อโควิด-19
ควรใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อตอนไหน
หลายคนมักสงสัยว่า การทำความสะอาดบ้านในช่วงโควิด-19 จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อหรือไม่ ซึ่งก็สามารถสรุปได้ง่ายๆ ดังนี้
- กรณีที่ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือเสี่ยงสูงในบ้านหรือห้องพัก โดยเฉพาะในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไป เช่น สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาด ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ ซึ่งโดยทั่วไป การทำความสะอาดวันละครั้ง ก็ถือว่าเพียงพอที่จะกำจัดเชื้อไวรัสจากพื้นผิวสิ่งต่างๆ
- กรณีที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือเสี่ยงสูงในบ้านหรือห้องพัก โดยเฉพาะในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา การใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อหลังทำความสะอาดจะถือเป็นสิ่งที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 ให้น้อยลง
การเลือกผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโควิด-19
สารฆ่าเชื้อที่แนะนำสำหรับการฆ่าเชื้อโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ อ้างอิงจากกรมอนามัย จะมีดังนี้
- แอลกอฮอล์ ความเข้มข้น 70% สำหรับฆ่าเชื้อบนสิ่งของ อุปกรณ์ เครื่องใช้ โดยจะเหมาะสำหรับพื้นผิวที่เป็นโลหะ
- ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ความเข้มข้น 0.5% (5,000 ppm) สำหรับฆ่าเชื้อบนสิ่งของ อุปกรณ์ เครื่องใช้ โดยจะเหมาะสำหรับพื้นผิววัสดุแข็ง ไม่มีรูพรุน เช่น เซรามิก สแตนเลส แต่ไม่เหมาะกับพื้นผิวโลหะ
- โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (น้ำยาซักผ้าขาว) ความเข้มข้น 0.1% (1,000 ppm) สำหรับฆ่าเชื้อบนพื้นห้อง หรือพื้นผิวขนาดใหญ่ แต่จะไม่เหมาะกับโลหะ และผลิตภัณฑ์ที่มีการเคลือบสี
ทั้งนี้ สารฆ่าเชื้อหลายชนิดจะมีฤทธิ์ระคายเคืองผิวหนังและเนื้อเยื่อต่างๆ และแอลกอฮอล์นั้นก็สามารถติดไฟได้ ดังนั้น การเก็บและการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สิน
วิธีทำความสะอาดห้องเพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19
ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดบ้านหรือห้องพักเพื่อป้องกันไว้ก่อน เพื่อให้อยู่ร่วมกับผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย หรือเพื่อฆ่าเชื้อหลังหายจากโควิด-19 ก็สามารถทำตามแนวทางได้ดังนี้
การเตรียมอุปกรณ์และน้ำยา
ควรเตรียมอุปกรณ์และน้ำยาทำความสะอาดให้พร้อม ซึ่งอาจประกอบไปด้วย
- อุปกรณ์ทำความสะอาด เช่น ถุงขยะ ถังน้ำ ไม้ถูพื้น ผ้าสำหรับเช็ดทำความสะอาด
- น้ำยา เช่น น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาฆ่าเชื้อ
- อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง
น้ำยาฆ่าเชื้อหลายสูตรหลายยี่ห้อ จะมีความเข้มข้นเมื่อผสมน้ำตามฉลากต่างจากที่กรมอนามัยแนะนำ ซึ่งถ้าจะผสมให้ได้ความเข้มข้นตามที่แนะนำ ก็สามารถดูแนวทางได้ที่ตารางอัตราส่วนการผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ
การทำความสะอาดห้องทั่วไป
การทำความสะอาดห้องทั่วไปที่ไม่ใช่ห้องน้ำ ให้มีโอกาสแพร่เชื้อโควิด-19 น้อยลง จะมีแนวทางที่แนะนำดังนี้
- สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง ขณะทำความสะอาด
- ควรเปิดประตูและหน้าต่าง ขณะทำความสะอาด
- ทำความสะอาดทั่วทั้งบริเวณ โดยเน้นจุดเสี่ยงหรือจุดที่ใช้ร่วมกันเป็นพิเศษ
- นำผ้าชุบน้ำเช็ดบริเวณที่มีฝุ่นหรือคราบสกปรก ก่อนที่จะใช้น้ำยาทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อ
- สำหรับพื้น ให้ใช้ไม้ถูพื้นชุบด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เริ่มถูจากมุมหนึ่งไปอีกมุมหนึ่ง จากบริเวณที่สกปรกน้อยไปมาก
- หลังทำความสะอาด ควรซักผ้าเช็ดและไม้ถูพื้นด้วยน้ำผสมผงซักฟอกหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วซักด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ก่อนจะนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
การทำความสะอาดห้องน้ำ
เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อผ่านการใช้ห้องน้ำ แนะนำให้ทำตามแนวทางดังนี้
- แยกห้องน้ำระหว่างผู้ติดเชื้อและผู้ที่ไม่ติดเชื้อ หากเป็นไปได้
- กรณีแยกห้องน้ำ ผู้ติดเชื้อควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อห้องน้ำที่ตัวเองใช้
- กรณีใช้ห้องน้ำร่วมกัน ผู้ติดเชื้อควรพยายามให้คนอื่นใช้ห้องน้ำก่อน ส่วนตัวเองใช้ทีหลัง และเมื่อผู้ติดเชื้อใช้ห้องน้ำแล้ว ให้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อห้องน้ำทันทีหลังใช้
- การทำความสะอาดห้องน้ำ ให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปก่อน พื้นห้องน้ำให้ราดน้ำยาฟอกขาวทิ้งไว้อย่างน้อย 10 นาที ใช้ผ้าชุบน้ำยาฟอกขาว หรือแอลกอฮอล์ 70% หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5% เน้นเช็ดบริเวณที่รองนั่ง ฝาโถ ที่กดชักโครก ราวจับ ลูกบิด กลอนประตู ที่แขวนทิชชู่ อ่างล้างมือ ก๊อกน้ำ ที่วางสบู่ ผนัง และซอกประตู
- ใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือ ขณะทำความสะอาดห้องน้ำ ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หลังทำความสะอาดห้องน้ำเสร็จ
- ผู้ที่ไม่ติดเชื้อควรเว้นระยะเวลาใช้ห้องน้ำหลังผู้ติดเชื้อให้นานที่สุด และควรใส่หน้ากากอนามัยตอนใช้ห้องน้ำ
- หากผู้ติดเชื้อไม่สามารถทำความสะอาดและฆ่าเชื้อห้องน้ำได้ ผู้ที่ใช้ห้องน้ำหลังผู้ติดเชื้อควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อห้องน้ำก่อนที่ตนจะใช้
การล้างภาชนะ
เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อผ่านภาชนะอาหารและเครื่องดื่ม แนะนำให้ทำตามแนวทางดังนี้
- ใช้เครื่องล้างจาน หากเป็นไปได้
- ใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือ หากต้องจัดการภาชนะของผู้ที่เป็นโควิด-19 หรือมีความเสี่ยงสูง
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หลังจัดการภาชนะเสร็จ
- จัดการภาชนะให้แห้งสะอาดก่อนนำไปใช้
การซักผ้า
เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อผ่านเสื้อผ้า แนะนำให้ทำตามแนวทางดังนี้
- ใช้เครื่องซักผ้าแทนการซักมือ หากเป็นไปได้
- ใช้น้ำอุ่นหรือน้ำร้อนในการซัก หากเป็นไปได้
- ทำความสะอาดตะกร้าผ้าหลังใช้
- จัดการผ้าให้แห้งสนิทก่อนเก็บหรือนำไปใช้
- ใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือ หากต้องจัดการผ้าของผู้ที่เป็นโควิด-19 หรือมีความเสี่ยงสูง
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หลังจัดการผ้าเสร็จ
การกำจัดขยะ
เพื่อเลี่ยงการติดเชื้อผ่านการจัดการขยะ แนะนำให้ทำตามแนวทางดังนี้
- จัดถุงขยะเฉพาะ ให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือมีความเสี่ยงสูง
- ใส่ถุงมือและหน้ากากอนามัย เมื่อจัดการขยะของผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังจัดการเสร็จ ให้ถอดถุงมือ และล้างมือด้วยสบู่และน้ำ
- สำหรับขยะติดเชื้อ ซึ่งได้แก่ ขยะที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง ของผู้ป่วยโควิด-19 หรือผู้ที่เสี่ยงสูง เช่น หน้ากากอนามัย ทิชชู่ ภาชนะอาหารแบบใช้แล้วทิ้ง ชุดตรวจ ATK ฯลฯ แนะนำให้ซ้อนถุงขยะ 2 ชั้น โดยราดภายในถุงชั้นในด้วยสารฆ่าเชื้อ ฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงทั้ง 2 ชั้น และมัดปากถุงทั้ง 2 ชั้นให้เรียบร้อย อ้างอิงตามกรมอนามัย
วิธีอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโควิด-19 ให้ปลอดภัย
กรณีที่อยู่ร่วมกับผู้ป่วยโควิด-19 หรือผู้ที่เสี่ยงสูง นอกจากการทำความสะอาดบ้านหรือห้องพักอย่างเหมาะสมแล้ว ยังมีแนวทางปฏิบัติที่แนะนำเพิ่มเติมดังนี้
- แยกห้องนอน ห้องน้ำ และพื้นที่อาศัยให้ชัดเจน กรณีแยกห้องน้ำไม่ได้ ให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำตามที่ได้กล่าวไป
- ควรระวังเป็นพิเศษ ถ้าตัวเราหรือคนอื่นในบ้านเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก ฯลฯ
- แยกของใช้ส่วนตัวชัดเจน เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน ส้อม อุปกรณ์ทำความสะอาด ฯลฯ
- แยกอาหารและเครื่องดื่ม จัดส่งให้ผู้กักตัวเป็นการเฉพาะ การส่งแนะนำให้วางไว้หน้าห้อง จะได้ไม่พบหน้ากัน หรือถ้าต้องส่งในห้องก็ให้ใส่หน้ากากอนามัยทั้ง 2 ฝ่าย
- ทุกคนในบ้านควรทำตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งได้แก่ ฉีดวัคซีนตามที่หน่วยงานแนะนำ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร เลี่ยงสัมผัส ใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี ทำความสะอาดมือด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ปิดปากและจมูกด้วยข้อพับบริเวณศอกหรือกระดาษชำระเวลาไอหรือจาม และหมั่นสังเกตอาการของโรคโควิด-19
เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ให้สามารถก้าวผ่านไปได้อย่างปลอดภัยด้วยกันทุกคน