ความดันโลหิตคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร
หัวใจของเราทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกายทำให้เกิดความดันโลหิตขึ้นในหลอดเลือดแดง ความดันโลหิตแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- ความดันโลหิตตัวบน (Systolic Blood Pressure, SBP) ซึ่งเป็นความดันโลหิตที่เกิดขึ้นในขณะที่หัวใจบีบตัว เพื่อนำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- ความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic Blood Pressure, DBP) ซึ่งเป็นความดันโลหิตที่เกิดขึ้นในขณะหัวใจคลายตัว เลือดจะไหลกลับเข้าไปในหัวใจอีกครั้ง
ค่าความดันโลหิตที่วัดได้คือ แรงดันของเลือดที่ปะทะกับผนังหลอดเลือด ดังนั้นจึงมีอีกปัจจัยหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นคือความแข็งแรงของหลอดเลือด หากผนังของหลอดเลือดมีความแข็งมาก ค่าแรงดันของการปะทะก็จะสูง แต่หากผนังหลอดเลือดยืดหยุ่นรองรับแรงปะทะได้มาก ค่าแรงดันก็จะต่ำ
ค่าความดันโลหิตที่เหมาะสมควรคือเท่าไร
เมื่อได้ค่าความดันโลหิตทั้งสองตัวมาแล้ว เราจะทราบได้อย่างไรว่าค่าที่ได้นั้นสูงหรือต่ำกว่ามาตรฐาน ตารางด้านล่างนี้จะทำให้เราสามารถเปรียบเทียบได้ทันที
คุณมีปัจจัยเสี่ยงมากน้อยเพียงใด
จากการสำรวจระหว่างปีพ.ศ. 2547-2549 ในประเทศไทยพบว่าผู้ชายเป็นความดันโลหิตสูง 23% ส่วนผู้หญิงเป็นความดันโลหิตสูง 21% สถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรไทยเป็นความดันโลหิตสูง แต่ข้อมูลที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือหากอายุเกิน 50 ปี สถิติการเป็นความดันโลหิตสูงจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจำนวนกว่าครึ่งไม่รู้ตัวมาก่อนว่าเป็นโรคนี้ ลองทำแบบทดสอบดูว่า คุณมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงมากน้อยเพียงใด…
- คุณมีสมาชิกในครอบครัว (พ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย) เป็นความดันโลหิตสูง
- น้ำหนักตัวของคุณมากเกินปกติ
- คุณเป็นผู้ชายอายุมากกว่า 35 ปี
- คุณเป็นสตรีวัยหมดประจำเดือน
- คุณสูบบุหรี่
- คุณดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมากกว่า 2 แก้ว
- คุณทำงานประเภทนั่งโต๊ะ
- คุณกินยาเม็ดคุมกำเนิด
- คุณชอบทานอาหารรสเค็ม
- คุณมีความเครียดเป็นประจำ
หากคุณมีอย่างน้อยหนึ่งข้อ แสดงว่าคุณมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง ถึงเวลาแล้วที่คุณต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองและหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ
ไม่มีอาการ…แสดงว่าไม่มีปัญหาจริงหรือ
คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดว่า คนที่เป็นความดันโลหิตสูงจะต้องเป็นผู้สูงอายุหรือมีอาการปวดศีรษะ มึนศีรษะ แต่จริงๆ แล้วความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ จะเริ่มเป็นในอายุประมาณ 35 ปีและไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังรู้สึกสบายดีเฉกเช่นคนปกติทั่วไป แต่ความดันโลหิตสูงจะคอยทำลายชีวิตผู้คนอย่างเงียบๆ ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายเสื่อมลงและเกิดความผิดปกติต่ออวัยวะสำคัญด้วยภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ผู้ป่วยหลายคนอาจเป็นโรคความดันโลหิตสูงหลายปี โดยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด จนมาวันหนึ่งเกิดอาการรุนแรงจากผลข้างเคียงของความดันโลหิตสูง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เป็นต้น ทำให้พิการหรือเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน
ภาวะแทรกซ้อนของความดันโลหิตสูง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีโรคประจำตัวหรือพฤติกรรมไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์จัด เป็นต้น ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เร็วขึ้น
อาหารรสเค็มทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างไร
เมื่อเราทานอาหารที่มีรสเค็มจัดจะทำให้ปริมาณเกลือในร่างกายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกลือหรือโซเดียมจะไปเพิ่มปริมาณน้ำในกระแสเลือด ทำให้มีปริมาณเลือดเพิ่มมากขึ้น หัวใจจึงต้องเพิ่มแรงดันในการผลักเลือดออกไปสู่หลอดเลือดแดงใหญ่ แต่ขณะเดียวกัน เมื่อร่างกายตรวจพบว่ามีปริมาณเลือดเข้ามาในหลอดเลือดมากเกินไป ก็จะหลั่งสารบางชนิดออกมาเพื่อให้หลอดเลือดตีบลง เพราะหากปล่อยให้เลือดเข้าไปในอวัยวะในปริมาณที่มากผิดปกติ อาจมีอันตรายต่ออวัยวะนั้นๆ ได้ ผลกระทบจากกระบวนการทั้งหมดนี้จะทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง
สาเหตุความดันโลหิตสูงในทัศนะการแพทย์จีน
ภาวะหยางในตับลอยขึ้นไปกระทบบนศีรษะ ในตับและไตมีทั้งหยิน (ความเย็น) และหยาง (ความร้อน) ปกติไตจะต้องส่งหยินในไตไปหล่อเลี้ยงตับ เพื่อไม่ให้ตับรุ่มร้อนเกินไป ถ้าไตเสื่อมลงจะไม่สามารถส่งหยินไปหล่อเลี้ยงตับได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้ความร้อนในตับมีมากเกินไป จนลอยขึ้นไปกระทบบนศีรษะ (肝阳上亢) ซึ่งจะเกิดอาการต่างๆ เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หูอื้อ หน้าแดง ปากขม อารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ขี้หลงขี้ลืม อุจจาระแข็งหรือท้องผูก แขนขาเหน็บชา ลิ้นแข็งหรือพูดอ้อแอ้ เป็นต้น
อนึ่ง เมื่อตับรุ่มร้อนเกินไปก็จะสร้างโคเลสเตอรอลในปริมาณมากเกินควร ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเกินไป ทั้งๆ ที่มีการควบคุมอาหารและออกกำลังกายแล้วก็ตาม เนื่องจากโคเลสเตอรอลในร่างกาย 80% ขึ้นไปสร้างมาจากตับ ภาวะเช่นนี้จะเร่งให้หลอดเลือดแดงมีอาการแข็งและตีบมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่ออัมพฤกษ์ อัมพาต
ภาวะเลือดเหนียวหนืดและจับตัวเป็นลิ่ม ระบบการไหลเวียนของเลือดต้องอาศัยพลังชี่ (气) จากไตเป็นแรงผลักดัน เมื่อไตเสื่อมลงพลังชี่ก็จะอ่อนลงไปด้วย ทำให้เลือดและพลังไหลเวียนช้าลง เลือดก็จะเหนียวหนืดและจับตัวเป็นลิ่มไปกีดขวางทางเดินของเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น ส่วนภาวะหยางในตับมีมากเกินไป ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่จะเร่งให้เลือดจับตัวเป็นลิ่มด้วย เมื่อหยางในตับมีมากจนถึงขั้นรุนแรง ก็จะเกิดลมในตับ (肝风) ซึ่งจะนำพาลิ่มเลือดขึ้นไปอุดตันหลอดเลือดสมอง จนกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
วิธีการบำบัดแบบองค์รวมของการแพทย์จีน รักษาความดันโลหิตสูงได้อย่างไร
หากพูดถึงยาควบคุมความดันโลหิต หลายๆ คนคงจะนึกถึงยาขับปัสสาวะ ถึงแม้ว่ายานี้เป็นยาพื้นฐานในการรักษาความดันโลหิตสูงของการแพทย์ตะวันตกก็ตาม แต่อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยในระยะยาว เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อการทำงานของไต ทำให้ระดับน้ำตาล ไขมันและกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น ที่สำคัญคือเป็นเพียงยาควบคุมและมิได้หยุดยั้งการลุกลามของโรค ผู้ป่วยจึงอาจต้องใช้ไปตลอด ดังนั้นการแพทย์จีนจึงนิยมหันมาใช้วิธีบำบัดแบบองค์รวม เพื่อรักษาต้นเหตุของความดันโลหิตสูง ดังนี้
- ทำความสะอาดและทะลวงหลอดเลือด สลายลิ่มเลือดและไขมัน ทำให้หลอดเลือดโล่งสะอาด จึงป้องกันและบำบัดโรคที่พบบ่อยในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
- บำรุงไต เพื่อให้หยิน-หยางในไตเกิดความสมดุล ไตจึงสามารถส่งหยินในไตไปหล่อเลี้ยงตับได้อย่างเพียงพอ เพื่อมิให้ตับรุ่มร้อนเกินไป ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของความดันโลหิตสูง เมื่อตับอยู่ในภาวะสมดุลก็จะมีการสร้างโคเลสเตอรอลในปริมาณที่เหมาะสม และในขณะเดียวกันเมื่อไตแข็งแรงขึ้น พลังชี่ที่เป็นแรงผลักดันของเลือดก็จะสมบูรณ์ขึ้น ระบบการไหลเวียนของเลือดจึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สารพัดอาการและโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดจากความดันโลหิตสูง หรืออาการปวด แน่น จุกเสียดหน้าอก หายใจไม่สะดวก มึนศีรษะ แขนขาอ่อนแรง ลิ้นชา พูดไม่ชัด ตามัว กลืนอาหารลำบาก หรือเดินเซเหมือนคนเมาเหล้า จึงค่อยๆ ทุเลาลง