น้ำในข้อเข่ามาจากไหน
ในข้อเข่าของคนเราปกติมีน้ำเลี้ยงข้ออยู่แล้ว ซึ่งมีลักษณะสีเหลืองอ่อนหรือใสๆ และมีความหนืด ทำหน้าที่หล่อลื่นข้อเข่าและเป็นสารอาหารหล่อเลี้ยงกระดูกอ่อน หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับโครงสร้างภายในของข้อเข่าจะทำให้น้ำในข้อเข่าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติของข้อเข่า ซึ่งมีอาการดังนี้
- ข้อเข่าจะบวมใหญ่ขึ้น
- ปวดขณะงอหรือยืดเหยียดข้อเข่า
- มีเสียงดังที่ข้อเข่าขณะที่ยืดเหยียด
สาเหตุเข่าบวมน้ำ
โครงสร้างของข้อเข่าประกอบด้วยกระดูกอ่อนรองข้อเข่า เอ็นไขว้หน้า เอ็นไขว้หลัง หมอนรองกระดูกและเยื่อหุ้มข้อ เมื่อโครงสร้างข้อเข่า 5 อย่างนี้มีอย่างใดอย่างหนึ่งได้รับการบาดเจ็บหรือมีการอักเสบ ข้อเข่าจะป้องกันตนเองโดยการกระตุ้นให้เยื่อหุ้มข้อสร้างสารน้ำออกมามากขึ้นจนทำให้เกิดเข่าบวมน้ำ โดยเข่าบวมนํ้าสามารถเกิดได้จากสาเหตุดังนี้
- อุบัติเหตุ มีการบาดเจ็บหรือฉีกขาดบริเวณโครงสร้างข้อเข่า
- โรคที่มีการอักเสบของข้อ เช่น รูมาตอยด์ โรคเกาต์ โรค SLE เป็นต้น
- ความเสื่อมของข้อ เช่น ข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงวัย ภาวะกระดูกงอก เป็นต้น
ถึงเจาะแล้วน้ำในเข่าก็กลับมาได้
หากมีน้ำในเข่ามากเกินไป การแพทย์แผนปัจจุบันมักจะใช้วิธีเจาะน้ำออกเพื่อบรรเทาอาการปวดบวมตึงและอาการเคลื่อนไหวไม่คล่องตัว แต่ผู้ป่วยหลายคนกังวลว่า ถ้าได้เจาะน้ำออกแล้ว ในระยะหนึ่งน้ำในเข่าจะกลับมาใหม่หรือปริมาณจะมากกว่าเดิมหรือไม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วสิ่งที่ผู้ป่วยกังวลนั้นก็เป็นเรื่องจริง เนื่องจากน้ำในเข่าเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างข้อเข่า การเจาะน้ำออกเป็นเพียงการแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้นโดยที่ความผิดปกติยังคงอยู่ จึงส่งผลให้อาการเข่าบวมนํ้ากลับมาเป็นซํ้าได้และปริมาณของนํ้าในข้อเข่าอาจมากขึ้นกว่าเดิม
สาเหตุเข่าบวมน้ำในทัศนะการแพทย์จีน
การแพทย์จีนได้จัดให้เข่าบวมน้ำอยู่ในกลุ่มโรคปี้เจิ้น (痺症) และฮื้อซีเฟือง (鶴膝風) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่พบบ่อยโดยสาเหตุเกิดจากม้ามและไตที่อ่อนแอลง ม้ามจะทำงานควบคู่กับไต โดยม้ามจะทำหน้าที่กระจายน้ำไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายและนำน้ำส่วนที่เหลือส่งไปที่ไต ไตมีหน้าที่ควบคุมและขจัดน้ำออกจากร่างกาย ในคนที่มีภาวะไตอ่อนแอมักส่งผลให้ม้ามทำงานผิดปกติไปด้วย การกระจายน้ำและการขับน้ำออกจากร่างกายจึงเสียความสมดุล จนเกิดการคั่งค้างของน้ำและของเหลวในร่างกาย รวมทั้งน้ำในเข่าด้วย
ในทัศนะแพทย์จีน ไตยังควบคุมการสร้างความแข็งแรงของกระดูกและกระดูกอ่อน ไตยังรวมไปถึงต่อมหมวกไตที่มีฮอร์โมนในการปรับสมดุลของแคลเซียมในกระดูก หากไตอ่อนแอลงจะทำให้ประสิทธิภาพในการสร้างและซ่อมแซมกระดูกลดลง ส่งผลให้กระดูกเสื่อมเร็วกว่าปกติและอาจมีภาวะกระดูกพรุนภายหลังอีกด้วย
เมื่อโครงสร้างของข้อเข่าผิดปกติก็ทำให้เกิดอาการอักเสบบริเวณข้อเข่า เยื้อหุ้มข้อเข่าจะถูกกระตุ้นให้มีการผลิตน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่าเพิ่มมากขึ้น ของเหลวที่สะสมอยู่ในข้อเข่าจะไปอุดกั้นเส้นเลือดและเส้นลมปราณบริเวณข้อเข่า ทำให้อยู่ในสภาพ ของดีไม่เข้า ของเสียไม่ออก จึงพัฒนาเป็นเข่าบวมน้ำในที่สุด
การแพทย์จีนบำบัดจากต้นเหตุอย่างไร
การแพทย์จีนนิยมใช้สมุนไพรที่มีสรรพคุณในการบำรุงม้ามให้แข็งแรง ขับความชื้น กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและพลังชี่เพื่อรักษาต้นเหตุของเข่าบวมน้ำ สมุนไพรจีนที่นิยมใช้ประกอบด้วย
- Zexie 泽泻 เจื๋อเซี่ย – ระบายนํ้า ความชื้น และความร้อน
- Fuling 茯苓 ฝูหลิง – ระบายความชื้นและน้ำ บำรุงม้ามให้แข็งแรงทำให้ระบบการเมตาบอลิซึมของนํ้าและของเหลวในร่างกายสมดุล
- Zhuling 猪苓 จูหลิง – ระบายความชื้นและน้ำ ช่วยให้ปัสสาวะคล่อง แก้ปัสสาวะขุ่น ลดอาการบวมนํ้าของร่างกาย
- Rougui 肉桂 โย่วกุ้ย – มีฤทธิ์อุ่นและทะลวงเส้นลมปราณ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ขับนํ้าส่วนเกินและความชื้นออกจากร่างกายได้ดี
- Baizhu 白朮 ไป๋จู้ – บำรุงม้ามให้แข็งแรง ขับความชื้นระบายน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย
พร้อมกันนั้น การแพทย์จีนยังให้ความสำคัญในการบำรุงไตควบคู่กับการบำรุงม้ามเพื่อขับน้ำและของเหลวออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเสริมสร้างความแข็งแรงและชะลอความเสื่อมของกระดูก ยังช่วยลดภาวะกระดูกพรุนในอนาคตอีกด้วย
อาการเข่าบวมน้ำจึงค่อย ๆ ทุเลาลง เห็นผลโดยรวม 94.3% อีกทั้งยังช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซํ้า ระยะเวลาการรักษาอาจไม่เท่ากันในแต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุ ความรุนแรงของอาการและระยะเวลาที่เรื้อรัง