หายจากโควิด-19 แล้วก็ยังอาจไม่จบ เพราะยังมีโอกาสเกิดภาวะลองโควิด (Long COVID) ต่อได้อีก ซึ่งบางคนก็อาจเป็นนานถึงหลายเดือน ทำให้กระทบการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ในบทความนี้ ทางเอินเวย์ก็เลยนำข้อมูลวิธีป้องกัน และปัจจัยเสี่ยงของภาวะลองโควิด มาให้ทุกท่านได้ดู เผื่อจะได้สามารถตัดปัญหาได้ตั้งแต่ต้น
วิธีป้องกันลองโควิด
วิธีป้องกันภาวะลองโควิดที่ดีที่สุดก็คือการไม่เป็นโควิด-19 ตั้งแต่แรก ซึ่งก็สามารถทำได้ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอ เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือเป็นประจำ เว้นระยะห่าง เลี่ยงสัมผัส เลี่ยงพื้นที่แออัด เป็นต้น
ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีข้อมูลศึกษาที่พบว่า วัคซีนโควิด-19 อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะลองโควิดได้ ด้วยเหตุนี้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครบตามข้อแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นสิ่งที่แนะนำทั้งในแง่ของการรับมือกับโรคโควิด-19 และภาวะลองโควิด
ทั้งนี้ ข้อมูลงานวิจัยในปัจจุบันยังไม่พบวิธีป้องกันภาวะลองโควิดสำหรับผู้ที่ติดโควิด-19 แล้ว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ยังต้องอาศัยงานวิจัยเพิ่มเติมต่อไป
ปัจจัยเสี่ยงภาวะลองโควิด
ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีโอกาสเกิดภาวะลองโควิดได้ทุกคน รวมถึงคนที่ไม่มีอาการเลยด้วย แต่ความเสี่ยงของภาวะลองโควิดอาจเพิ่มมากขึ้น ถ้ามีปัจจัยต่างๆ เหล่านี้
1. ป่วยหนักตอนเป็นโควิด-19
อ้างอิงจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) ผู้ที่ป่วยหนักกว่า เมื่อเป็นโควิด-19 อาจมีแนวโน้มเสี่ยงเกิดภาวะลองโควิดได้มากกว่า โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือแผนกผู้ป่วยหนัก (ICU)
ไม่เพียงแค่ลองโควิดเท่านั้น ยังมีงานวิจัย (The Lancet, JASN, Nature) พบอีกว่า ผู้ที่ป่วยหนักตอนเป็นโควิด-19 อาจมีความเสี่ยงต่อบางโรคเพิ่มขึ้นในภายหลังอีกด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ
2. ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19
การได้รับวัคซีนโควิด-19 ก่อนที่จะติดเชื้อ อาจมีผลช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะลองโควิดได้ อ้างอิงจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้ การได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบถ้วนตามคำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงถือเป็นสิ่งที่แนะนำทั้งในแง่ของการรับมือกับโรคโควิด-19 และการป้องกันภาวะลองโควิด
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลงานวิจัยในปัจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด ว่าการฉีดวัคซีนในผู้ที่เป็นลองโควิดแล้ว จะมีผลดีต่ออาการหรือไม่ ซึ่งก็ต้องอาศัยงานวิจัยเพิ่มเติมต่อไป
3. เพศหญิง
งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า เพศหญิงจะมีโอกาสเป็นลองโควิดมากกว่าเพศชาย ต่างจากตอนที่เป็นโควิด-19 ที่เพศชายนั้นจะมีโอกาสป่วยหนักมากกว่าเพศหญิง
แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่นักวิจัยคาดว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเพศหญิงมักมีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่รวดเร็วและรุนแรงกว่า ส่งผลให้สามารถรับมือกับเชื้อตอนแรกได้ดีกว่า แต่ข้อได้เปรียบนี้ก็กลับมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในกลไกของการเกิดภาวะลองโควิดได้ในภายหลัง
4. ผู้สูงอายุ
อีกปัจจัยเสี่ยงของภาวะลองโควิดก็คืออายุ มีงานวิจัยพบว่า อายุที่มากขึ้นอาจสัมพันธ์กับความเสี่ยงของภาวะลองโควิดที่เพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน ก็มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เด็กและวัยรุ่นนั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะลองโควิดน้อยกว่าผู้ใหญ่ อ้างอิงจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกา
5. สูบบุหรี่
ข้อมูลปัจจุบันค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า การสูบบุหรี่จะทำให้เสี่ยงป่วยหนักและมีโอกาสเสียชีวิตเมื่อเป็นโควิด-19 มากขึ้น ซึ่งสำหรับภาวะลองโควิดนั้น ก็มีงานวิจัยขนาดใหญ่ในประเทศอังกฤษที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 ที่พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่ หรือเคยสูบบุหรี่ ก็อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะลองโควิดมากขึ้นเช่นกัน
6. โรคประจำตัว
โรคประจำตัวหลายโรค ก็อาจมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลองโควิดได้เช่นกัน เช่น โรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคอ้วน แต่นักวิจัยก็ยังไม่ทราบถึงกลไกเบื้องหลังความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากภาวะลองโควิดยังเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งก็ต้องอาศัยงานวิจัยเพิ่มเติมต่อไป
7. เชื้อ Epstein-Barr
เชื้อ Epstein-Barr (เอพสไตน์บาร์) เป็นเชื้อไวรัสที่พบได้ทั่วไปในผู้ใหญ่กว่า 90% แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้อยู่ในสถานะ Active และไม่ได้ก่อให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยพบว่า เชื้อโควิด-19 อาจทำให้เชื้อ Epstein-Barr เปลี่ยนมามีสถานะ Active ซึ่งก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะลองโควิดได้
จบแล้วกับข้อมูลวิธีป้องกัน และปัจจัยเสี่ยงของภาวะลองโควิด ทางเอินเวย์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ ถ้ามีโอกาสก็ป้องกันไว้ก่อนดีกว่าค่ะ
เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ให้สามารถก้าวผ่านไปได้อย่างปลอดภัยด้วยกันทุกคน