แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่พบข้อมูลหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเชื้อโควิด-19 สามารถติดต่อผ่านทางอาหารหรือบรรจุภัณฑ์ได้ อ้างอิงจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) แต่การแชร์อาหารหรือเครื่องดื่ม รวมถึงการดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ซึ่งเหตุผลนั้นได้แก่
- มีงานศึกษาพบเชื้อโควิดในน้ำลายของผู้ติดเชื้อ และเชื้อโควิดนั้นสามารถอยู่รอดบนพื้นผิววัสดุต่างๆ รวมถึงแก้วน้ำได้ หากยังไม่ได้ทำความสะอาดอย่างเหมาะสม ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่า แม้ข้อมูลจากงานวิจัยจะยังไม่ชัด แต่การแชร์อาหารหรือดื่มน้ำจากแก้วเดียวกัน ก็อาจมีโอกาสแพร่เชื้อโควิด-19 ได้
- การใช้ภาชนะร่วมกัน อาจหมายถึงการใกล้ชิดกันโดยที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งถือว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 กรณีที่มีผู้ติดเชื้อ
- ยังมีโรคอื่นๆ อีกหลายโรค เช่น โรคไวรัสตับอักเสบเอและอี โรคเริมที่ปาก ฯลฯ ที่สามารถติดต่อผ่านทางน้ำลายหรืออาหารได้ แม้ตัดประเด็นของโรคโควิด-19 ออก แต่ในแง่ของสุขอนามัยทั่วไป การแชร์อาหารหรือดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ก็ยังถือเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำอยู่ดี
แล้วการกินอาหารร่วมกันเสี่ยงติดโควิดไหม
เนื่องจากตอนกินอาหาร เราจะไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย การร่วมกินอาหารกับผู้อื่นจึงถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 มากระดับหนึ่ง ซึ่งจุดนี้ การทำตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เช่น การได้รับวัคซีนอย่างเหมาะสม การเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร การเลี่ยงสัมผัส การล้างมือก่อนและหลังกินอาหาร การคัดกรองความเสี่ยงของแต่ละบุคคล ฯลฯ จึงถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก
มาตรการรับมือโควิดสำหรับลูกค้าร้านอาหาร
สำหรับผู้ที่อยากทราบว่า เวลาเราไปกินอาหารข้างนอก เราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ของไทย ก็ได้ออกประกาศแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งในแง่ของผู้ใช้บริการ ก็จะมีแนวทางปฏิบัติดังนี้
- คัดกรองความเสี่ยงตามจุดที่กำหนด
- ลงทะเบียนก่อนใช้บริการตามที่ร้านกำหนด เช่น ไทยชนะ หรือ Thai Save Thai
- งดใช้บริการหากมีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ
- สวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตลอดเวลา ยกเว้นตอนรับประทานอาหาร ไม่ควรนั่งในร้านอาหารเกิน 1-2 ชั่วโมง
- เว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร ในการซื้อและนั่งรับประทานอาหาร
- ล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำทุกครั้ง
- ปฏิบัติตามมาตรการของร้านอย่างเคร่งครัด
- ประเมินสถานประกอบการผ่าน QR Code จากใบประกาศระบบ Thai Stop COVID Plus หรือร้องเรียนผ่านช่องทางอื่น หากมีจุดที่ไม่เหมาะสม
มาตรการรับมือโควิดสำหรับผู้ให้บริการร้านอาหาร
ส่วนในมุมของร้านอาหารและผู้ให้บริการนั้น ก็จะมีสรุปแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ดังนี้
- ทำความสะอาดโต๊ะและที่นั่งทันทีก่อน-หลังใช้บริการ ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมและห้องน้ำทุก 1-2 ชั่วโมง กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน ล้างภาชนะและอุปกรณ์ให้สะอาดตามหลักสุขาภิบาลอาหาร
- จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่และน้ำ หรือจัดบริการเจลแอลกอฮอล์ประจำโต๊ะหรือในบริเวณที่เข้าถึงง่าย
- จัดอุปกรณ์รับประทานอาหารแบบส่วนบุคคล
- สำหรับร้านอาหารแบบบริการตนเอง ต้องจัดบริการถุงมือให้กับลูกค้าขณะใช้บริการ
- กำหนดให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าให้ถูกต้องตลอดเวลา ทั้งพนักงานและลูกค้า เว้นเฉพาะสำหรับผู้ที่กำลังรับประทานอาหาร ลดการสัมผัสและพูดคุยระหว่างพนักงานด้วยกันและระหว่างพนักงานและลูกค้า
- เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และโต๊ะที่นั่งสำหรับรับประทานอาหาร 1-2 เมตร
- จัดให้ที่นั่งมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร และไม่นั่งตรงข้ามกัน
- กรณีมีพื้นที่จำกัด ให้ใช้ฉากกั้น และจัดที่นั่งไม่ให้ตรงข้ามกัน โดยฉากกั้นต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการระบายอากาศ
- กรณีมีเครื่องปรับอากาศ ให้เพิ่มระยะห่างระหว่างโต๊ะไม่น้อยกว่า 2 เมตร โดยจัดที่นั่งไม่ให้ตรงข้ามกัน
- จำกัดระยะเวลารับประทานอาหารไม่เกิน 2 ชั่วโมง หรือปฏิบัติตามมาตรการของพื้นที่
- เปิดประตู หน้าต่าง หรือระบบจ่ายอากาศสะอาด อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ก่อนเปิดและปิดระบบปรับอากาศ
- มีการระบายและหมุนเวียนอากาศเหมาะสมต่อจำนวนคน
- พื้นที่ปรับอากาศ ให้เปิดระบายอากาศในพื้นที่รับประทานอาหารทุก 1 ชั่วโมง
- ห้องน้ำควรมีระบบระบายอากาศที่ดี
- พนักงานต้องฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือมีประวัติติดเชื้อมาก่อนในช่วง 1-3 เดือน
- จัดหา ATK ให้พนักงานตรวจทุก 7 วัน หรือตรวจ ATK เมื่อมีผลประเมิน Thai Save Thai เป็นเสี่ยงสูง
- พนักงานทุกคนได้รับการคัดกรองความเสี่ยงด้วย Thai Save Thai หรือแอพที่ราชการกำหนดทุกวัน
- เจ้าของร้านกำกับติดตามพนักงานให้ปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA อย่างเคร่งครัด
- เจ้าของร้านกำกับติดตามพนักงานไม่ให้มีการรวมกลุ่มในขณะปฏิบัติงานและพัก และไม่ให้รับประทานอาหารร่วมกัน
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ ตั้งแต่เริ่มทำงาน ก่อนเตรียมอาหาร ระหว่างและหลังปรุงอาหาร หลังจับเงิน จับสิ่งมูลฝอยหรือเศษอาหาร หลังสูบบุหรี่ หลังทำความสะอาด หลังเข้าห้องน้ำ
- ผู้ปรุงอาหารและเสิร์ฟอาหาร ให้สวมผ้ากันเปื้อน ถุงมือ และหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ให้ถูกต้องตลอดระยะเวลาปฏิบัติงาน
- ผู้ปฏิบัติงานที่เป็นผู้สัมผัสอาหาร ต้องไม่เข้าพื้นที่เสี่ยงในระยะ 14 วัน
- เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านการป้องกันโควิด-19 ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การสวมหน้ากากอย่างถูกวิธี การล้างมือที่ถูกต้อง ข้อปฏิบัติสำหรับลูกค้า เป็นต้น
- กำหนดจุดคัดกรองทั้งสำหรับพนักงานและลูกค้า
เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ให้สามารถก้าวผ่านไปได้อย่างปลอดภัยด้วยกันทุกคน